“โฮปเวลล์” ยื่นข้อเสนอพิเศษปิดมหากาพย์ “ค่าโง่” 2.47หมื่นล้าน

แฟ้มภาพ

คณะทำงานเจรจาลดหนี้ ลุ้นหนักศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์รื้อ”ค่าโง่โฮปเวลล์” “พิศักดิ์”อุบ”โฮปเวลล์”ยื่นข้อเสนอพิเศษ ผงะหนี้ท่วม 2.47 หมื่นล้าน แจงขอทุเลาบังคับคดีแล้วแต่ดอกรายวัน 2.4 ล้านยังเดินปกติ เปิด 2 แนวทางเคลียร์ค่าโง่หมื่นล้าน

พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐอันเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีคดีโฮปเวลล์ เปิดเผยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นข้อเสนอพิเศษในประเด็นวงเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษามาที่คณะทำงานแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่โฮปเวลล์ขอไว้ห้ามขยายความกับสื่อ

และข้อเสนอพิเศษนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการถอดคำฟ้องกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกระทรวงจะใช้ประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) เป็นหลักฐานฟ้องทางแพ่งกลุ่มโฮปเวลล์แต่อย่างใด และคณะทำงานชุดนี้ไม่มีการหยิบคำสั่งปว.281 มาเจรจาด้วย คุยกันเฉพาะการชดเชยตามคำพิพากษา

@ลุ้นศาลพิจารณารับอุทธรณ์

แต่จะมีการปรึกษากับอัยการสูงสุดว่าจะทำตามข้อเสนอของโฮปเวลล์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ จะต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลปกครองสูงสุด กรณีที่กระทรวงคมนาคมมอบอัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ก่อนว่า ศาลปกครองสูงสุดจะรับอุทธรณ์หรือไม่ จึงจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ทั้งนี้ กระทรวงได้ขอทุเลาการบังคับคดีกับกรมบังคับคดีเรียบร้อยแล้ว แต่ถึงได้รับการทุเลา ดอกเบี้ย 7.5% คิดเป็นวันละ 2,434,931.51 บาท

@รัฐขอปลอดดอก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 19 ต.ค.2562 วงเงินที่กระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท.ในฐานะจำเลยจะต้องชำระตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด มีมูลค่ารวมดอกเบี้ย 7.5% อยู่ที่ 24,798 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท และดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท ซึ่งจะต้องชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คือวันที่ 19 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้ คณะทำงานเจรจาพยายามต่อรองกับโฮปเวลล์ขอให้ลดดอกเบี้ยเงินต้นเหลือ 0% และขอให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน แต่โฮปเวลล์ไม่ยินยอม อ้างว่าภาครัฐได้ขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครอง

@ชง2แนวทางชำระหนี้

คณะทำงานจึงสรุปแนวทางได้ 2 แบบ แบบที่ 1 ให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยจัดสรรเงินงบประมาณให้กระทรวง นำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษา แหล่งเงินอาจมาจากงบประมาณและ/หรือเงินกู้ วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่มีต้นทุนทางการเงิน แต่มีข้อเสียคือหากจัดทำงบประมาณขาดดุลหรือใช้แหล่งเงินกู้ ก็จะเกิดต้นทุนทางการเงิน

กับแบบที่ 2 ให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นร่วมกับ ร.ฟ.ท. โดยร.ฟ.ท.รับภาระค่าค่าตอบแทนโครงการ 2,580 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ได้รับจากโฮปเวลล์โดยตรง อาจใช้เงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน ปี 2562 และหรือปี 2563 ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน

ส่วนรัฐบาลรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งจำนวน 21,948 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้ด้วย โดยให้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวง นำไปจ่าย แหล่งเงินอาจมาจากเงินงบประมาณและหรือเงินกู้ ข้อดีคือ ร.ฟ.ท.สามารถใช้เงินกู้ที่ได้รับในแต่ละปีมาจ่ายได้เลย แต่ข้อเสียคือ ต้นทุนทางการเงินของ ร.ฟ.ท.จะสูงกว่ารัฐบาล