รัฐโหมสร้างรถไฟฟ้า 6 สาย ทำ “กทม.” รถติดหนึบ ชง 12 มาตรการแก้ปัญหา

วันที่ 19 พ.ย. 62 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)เป็นประธานการประชุมเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี ผู้บริหารกทม. สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ ผู้บริหารเขตและหัวหน้าฝ่ายโยธาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

โดยสำนักการโยธา เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กทม. 12 ปัญหา ประกอบด้วย 1.การวางแนว Barrier ที่คดเคี้ยวไม่ตรงทำให้การขับขี่รถยนต์เคลื่อนตัวช้า ควรจัดวางแนว Barrier ให้ตรงตามแนวเส้นทางจราจร ไม่ให้คดเคี้ยว บิดเอียง เพื่อที่รถจะได้ทำความเร็วเพิ่มขึ้น

2.ช่องทางกลับรถ (U-Turn) คับแคบ ทำให้รถยนต์ที่จะเลี้ยว-กลับรถ ติดสะสม และเคลื่อนตัวช้ามาก ควรจะเปิดช่อง U-Turn ให้กว้างเต็มช่องเสาและตอม่อเพื่อจะทำให้รถยนต์กลับรถได้สะดวกมากขึ้นพร้อมกัน

3.ปัญหากองดิน เศษหิน เศษปูน ในพื้นที่ก่อสร้าง ควรขนย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ในทันที 4.ปัญหาผิวช่องทางจราจร ชำรุด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างขับขี่ และทำให้รถเคลื่อนตัวช้าลง ควรเร่งแก้ไขผิวจราจรให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ใช้งานชั่วคราว เกิดความคล่องตัว และการขับขี่ปลอดภัย

5.แนวก่อสร้างที่เสร็จแล้วหรือยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่ได้วางแผง Barrier ปิดช่องทางจราจร ควรให้มีการเปิดช่องทางจราจร บางส่วนเป็นการชั่วคราว ในช่วงที่ยังไม่ก่อสร้าง

6.ช่วงขึ้นลงที่คอสะพานข้ามแยกมีลักษณะเป็นคอขวดเกือบทุกจุด ให้เร่งก่อสร้างงานฐานรากเร็วขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาคอขวดที่สะพาน

7.ปัญหารถบรรทุก เครื่องจักร สัมภาระที่ไม่จำเป็นในพื้นที่ก่อสร้าง กีดขวางช่องทางจราจร ให้เร่งแก้ไข เสนอจัดระเบียบ รถบรรทุก เครื่องจักร และสัมภาระในพื้นที่

8.แนวก่อสร้างที่ฐานล่าง ตอม่อ เสาสะพานที่แล้วเสร็จ แต่ยังปิดช่องทางจราจร ต้องปรับผิวจราจรบางส่วนที่พอใช้ให้เป็นช่องจราจรชั่วคราวเพิ่มขึ้น

9.พื้นที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง หรือพักการก่อสร้างชั่วคราว แต่ปิดช่องทางจราจร ให้ปรับพื้นที่ และเปิดช่องจราจร เป็นครั้งคราวในพื้นที่ยังไม่เร่งก่อสร้าง

10.การเปิดแนว Barrier แล้วไม่ได้ทำการปิดให้เรียบร้อย ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเข้าใจผิดว่าสามารถเข้าไปใช้งานได้ ให้ทำการปิดกั้นให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย

11.ปัญหาไม่มีไฟฟ้าชั่วคราวและไฟฉุกเฉินตามแนวก่อสร้าง แนวทางการแก้ไข เสนอติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฉุกเฉินตามแนวการก่อสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสังเกตเห็น

และ 12.ปัญหากองวัสดุตั้งวางเต็มพื้นที่ทางเท้าและไม่มีการปิดกันพื้นที่อาจทำให้ผู้ใช้ทางเท้าใช้พื้นที่ถนนในการสัญจรได้รับอันตราย แนวทางการแก้ไข เสนอปิดกั้นพื้นที่และจัดทำทางสัญจรให้กับประชาชน

ผู้ว่ากทม.กล่าวว่า มีความห่วงใยและให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการจราจร ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า จำนวน 6 สาย ทำให้การจราจรติดขัดและส่งผลกระทบต่อประชาชน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าว จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

จากการหารือที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ รฟม. พร้อมดำเนินการปรับการตั้งวางแนว Barrier โดยจะใช้ผิวการจราจรให้น้อยที่สุด และกรณีที่ผู้รับเหมาใช้พื้นที่ก่อสร้างในช่วงเวลากลางคืนแล้วในช่วงเวลาเช้าไม่เคลื่อนย้าย Barrier เพื่อคืนผิวการจราจร จะดำเนินการตรวจสอบ หากพบจะลงโทษผู้รับเหมาอย่างจริงจัง

สำหรับจุดกลับรถปกติไม่มีเนื่องจากเป็นการตัดกระแสรถ ซึ่งทาง บช.น. รับไปพิจารณาเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้กลับรถได้ เป็นต้น โดยในส่วนของกมม.ได้กำชับสำนักการโยธากวดขันการดำเนินงานของผู้รับเหมาอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า จัดเจ้าหน้าที่เขตและเจ้าหน้าที่เทศกิจ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการร่วมดำเนินการเคลื่อนย้าย Barrier ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนผิวจราจรและลดปัญหาการจราจรติดขัด

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่จำนวน 6 สาย ประกอบด้วย 1.สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.7 กม. 2. สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางชื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 26 กม. 3.สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ระยะทาง 1.88 กม. 4.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 33 กม. 5.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 37.3 กม. และ6.สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กม.