ศูนย์อสังหาชี้ยอดโอนQ3พุ่ง คอนโดเอื้ออาทร1.6หมื่นยูนิตอุ้มตลาด

ศูนย์อสังหาชี้ยอดโอนQ3พุ่ง คอนโดเอื้ออาทร1.6หมื่นยูนิตอุ้มตลาด
แฟ้มภาพ
ศูนย์อสังหาฯ ธอส.แจ้งข่าวดีสถิติยอดโอนที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 พุ่งเกินคาด ผลจากบ้าน-คอนโดเอื้ออาทรโอนสนั่น 1.6 หมื่นยูนิต ส่งผลตลาดบวก 11% ยอดรวมร่วมแสนกว่าหน่วย

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 3/62 การโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศบวก 11.1%จำนวน 101,704 ยูนิต ในด้านมูลค่าการโอนก็เป็นบวก 12.4% จำนวน 227,793 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์

ถือว่าเป็นข่าวดีเพราะก่อนหน้านี้มีความวิตกกังวลว่า ตลาดที่อยู่อาศัยจะหดตัวมากกว่านี้ โดยการโอน 101,704 ยูนิต แบ่งเป็นการโอนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 53,936 ยูนิต สัดส่วน 53% เติบโต 10.9% ต่างจังหวัดโอนรวมกัน 47,768 ยูนิต สัดส่วน 47% โต 13.1%

และในด้านมูลค่าการโอน 227,793 ล้านบาท แบ่งเป็นเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สัดส่วน 64.5% 146,827 ล้านบาท โต 9.6% ต่างจังหวัดรวมกัน 35.5% 80,966 ล้านบาท โต 17.8%

สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 3/62 ออกมาดีเกินความคาดหมายมาจากการโอนห้องชุดในโครงการเคหะชุมชนและบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งมีการโอนมากเป็นพิเศษถึง 16,179 ยูนิต แบ่งเป็นยอดโอนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 13,984 ยูนิต ต่างจังหวัดอีก 2,195 ยูนิต

“เห็นตัวเลขตอนแรกก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน เมื่อลองเช็กข้อมูลพบว่า ยูนิตโอนจากโครงการบ้านเอื้อฯมีส่วนสำคัญ อาจเป็นเพราะมาเจอช่วงจังหวะครบ 5 ปี ที่ลูกค้าเช่าซื้อที่อยู่อาศัยกับการเคหะฯ เมื่อครบกำหนดก็สามารถกู้เงินจากธนาคารและโอนกรรมสิทธิ์ได้ เทียบกับช่วงปกติบ้านเคหะ หรือบ้านเอื้ออาทร เฉลี่ยการโอนไม่ถึงไตรมาสละ 10,000 หน่วย”

ปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลทำให้ภาพรวมยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศจนถึงสิ้นปี 2562 คาดว่าอยู่ที่ 361,696 ยูนิต มูลค่าโอนรวมกัน 820,624 ล้านบาทลดลงเล็กน้อย -2.2% เทียบกับปี 2561

โดยมีตัวช่วยจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ในการลดค่าโอน+จดจำนองจาก 3% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 30,000 บาท เหลือค่าใช้จ่ายโอนล้านละ 300 บาท สำหรับที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมีอายุมาตรการยาวถึง 24 ธันวาคม 2563

ทำให้คาดการณ์ครึ่งปีหลัง 2562 มาตรการรัฐจะเข้ามาสนับสนุน ทำให้ซัพพลายคงค้างในตลาดกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 257,969 ยูนิต หรือซัพพลายถูกดูดซับเพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ

ดร.วิชัยกล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 4/62 คาดว่าตลาดหลักในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีการแข่งขันเปิดตัวโครงการใหม่ ทั้งสินค้าบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แบ่งเป็นการเปิดตัวบ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์) 14,954 ยูนิต คอนโดฯ 29,399 ยูนิต

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์โครงการเปิดตัวใหม่ปี 2562 ทั้งปีอยู่ที่ 112,044 ยูนิตลดลง -23.2% เทียบกับปี 2561 โดยเป็นโครงการแนวราบสัดส่วน 41.1% จำนวน 46,010 ยูนิต ลดลง -24.4% ห้องชุดสัดส่วน 58.8% ลดลง -22.4%

“เทรนด์ปี 2562 ตลาดถดถอยกลับไปอยู่ในรอบ 5 ปี หรือกลับไปอยู่บนสถิติของปี 2557 ซึ่งผมมองว่าไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้น เทรนด์ปี”63 อย่างน้อย ๆ ตลาดก็น่าจะทรงตัว หรือเป็นบวกขึ้นมาได้ 5% บวกลบเทียบกับปีนี้”

ดร.วิชัยกล่าวตอนท้ายด้วยว่า แม้มีปัจจัยบวกจากเทรนด์อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่อง จึงประเมินว่ารัฐบาลอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในการลดค่าโอน-จดจำนองสำหรับการซื้อขายบ้านมือสอง ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลในอดีต