โลกของมืออาชีพ BEM “เบื้องหน้า” สำคัญแล้ว “เบื้องหลัง” สำคัญยิ่งกว่า

วิทูรย์ หทัยรัตนา

สมถวิล ลีลาสุวัฒน์ : เรื่อง-ภาพ

การบินข้ามทวีปพาสื่อไทยกลุ่มใหญ่ไปดูงานการผลิตรถไฟฟ้า ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ย่อมมีนัยสำคัญต่อโลกธุรกิจของมืออาชีพ

BEM หรือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กำลังเติบโตตามเทรนด์ โดยเฉพาะเรื่องของ “ระบบราง” ในฐานะผู้ให้บริการเดินรถทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) รถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายฉลองรัชธรรม) และที่ฮือฮาคือ “ส่วนต่อขยาย” ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เชื่อมเส้นทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี จากสถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสองที่เปิดวิ่งให้บริการแล้วในปี 2562 และจะเปิดวิ่งอีกจากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563

ทำให้ “จิ๊กซอว์” รถไฟฟ้าค่าย BEM มีโครงข่ายครบวงสมบูรณ์ ช่วยย่นย่อการเดินทางของคนกรุงและชานเมืองได้เร็วขึ้น ไม่เสียเวลาติดรถบนถนน สมความตั้งใจของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริษัท

จะว่าไปแล้ว BEM มีรากฐานความแข็งแกร่งมาจาก “ทางด่วน” ถือเป็นธุรกิจทำเงินสดได้ดี จากผลประกอบการ (รวมบริษัทย่อย) เมื่อปี 2561 มีกำไรสุทธิถึง 5,317 ล้านบาท ถือว่า “ไม่ขี้เหร่”

ทั้งต้อง “ตุนเงิน” ไว้ลงทุนอย่างมหาศาลกับโครงการใหม่ ๆ นอกเหนือจาก “ระบบราง” ก็คือ “ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์” ภายใต้การบริหารของ BMN : บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด

ฉะนั้น “ความพร้อม” ของระบบ และความมั่นคงของ “องค์กร” จึงมีความสำคัญมากนับจากนี้

นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของ BEM ที่เป็น “หัวหน้าทีม” พาสื่อไปดูงานครั้งนี้ กล่าวว่า

“BEM มีภารกิจที่ท้าทาย เพราะเป็นผู้ให้บริการทั้งด้านทางและระบบราง ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกอย่างล้วนเป็นงานละเอียด”

เหมือนเราเห็นรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการไปมา อาจดูเหมือนง่ายและธรรมดา

แต่เนื้อแท้แล้ว เบื้องหลังล้วนมี “กลไก” ที่สลับซับซ้อนมาก

บริษัทจึงมีนโยบายเน้นหนักและให้เข้าใจถ่องแท้ถึงความเป็น “มืออาชีพ”

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ BEM ถึงต้องพาสื่อมาดูให้เห็นกับตาว่า “กว่าจะได้รถไฟฟ้า 1 ขบวน ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะตัดสินใจให้ซัพพลายเออร์รายใดเป็นผู้ผลิตก็ยิ่งมีความสำคัญมากกว่า”

เพราะใคร ๆ ก็ต้องการความเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกัน BEM จึงเลือกใช้ “รถไฟฟ้า” จากฝีมือการผลิตของบริษัท Siemens Mobility Austria GmbH ที่มีฐานผลิตโรงงานขนาดใหญ่ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าขบวนใหม่ของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยคณะผู้บริหารของซีเมนส์ได้สรุปภาพรวมของโรงงานและชมการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีการจำลองรถไฟเสมือนจริงที่ทันสมัยมาก ทำให้เห็นการทำงานที่ซับซ้อนของชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถไฟฟ้า และเห็นกระบวนการประกอบรถไฟฟ้า BLUE Line ในโรงงาน ที่สำคัญยังได้เข้าเยี่ยมชม World Competence Center Bogies (Siemens Mobility Graz) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโบกี้หรือแคร่ล้อ ที่ถือว่าเป็น “หัวใจ” ของพลังขับเคลื่อนของตัวรถ และรองรับน้ำหนักตู้โดยสารอีกด้วย

“โบกี้ที่เราเรียกกัน หลายคนเข้าใจว่าเป็นตัวบอดี้รถ แต่ความหมายของช่างหรือวิศวกร ส่วนนี้คือ แคร่ล้อ ที่เป็นจักรกลมหัศจรรย์ ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไปมาอย่างปลอดภัย”

“ใน 1 แคร่ล้อ คุณรู้มั้ย มีสายไฟเรียว ๆ เล็ก ๆ ยาวนับ 60-70 กิโลเมตร ม้วนพันเป็นขด ๆ อยู่ข้างใน แล้วมีนอตมากมายถึง 10,000 ตัว ทุกขั้นตอนล้วนต้องใช้ความสามารถที่เชี่ยวชาญเป็นโนว์ฮาวเฉพาะ ถือเป็นเบื้องหลังที่มีความสำคัญมาก”

“เมื่อรถเกิดปัญหา การส่องหาต้นเหตุหรือจุดที่เป็นปัญหา จึงต้องใช้เวลาและความชำนาญ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการบริหารจัดการที่เราคำนึงถึง เราจึงต้องใช้ความเป็นมาตรฐานโลก แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัยและชื่อเสียงแล้ว ถือว่าคุ้มค่า”

โดย BEM เลือกแบรนด์ “ซีเมนส์” เทคโนโลยีจากเยอรมนีทั้งหมด ด้วยการซื้อรถใหม่ถึง 35 ขบวน วงเงิน 22,036 ล้านบาท

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสากล ทั้งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “ช่วงเตาปูน-ท่าพระ” ที่จะเปิดให้บริการเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2563

ทั้งนี้ บริษัทซีเมนส์จะส่งมอบรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายให้กับ BEM ภายในเดือนมีนาคม 2563 เช่นกัน ซึ่งจะทำให้มีรถไฟฟ้าขบวนใหม่ครบ 35 ขบวน รวมรถไฟฟ้าให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมด 54 ขบวน (ปัจจุบันมี 19 ขบวน)

น่าเสียดายที่ซีเมนส์ขอสงวนความลับทางธุรกิจ ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ถ่ายคลิป “ชิ้นส่วนขึ้นรูป” และ “กระบวนการ” แต่ละขั้นตอนในโรงงาน (โรงกลึงขนาดใหญ่)

แต่จากการบรรยายความเป็น “เบื้องหลัง” ในฐานะพลังขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนที่ต้องบรรทุกผู้โดยสารทีละเยอะ ๆ นั้น ทำให้รู้ว่า ความเนี้ยบของงานถือว่า “สำคัญสุด” โดยมี “แรงงานคน” คอยกำกับ ควบคุม ประสานไปกับเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามเจ้าหน้าที่บริษัทซีเมนส์ที่นำชมโรงงานว่า “ธุรกิจการผลิตรถไฟฟ้าเหล่านี้ถูกดิสรัปชั่นบ้างหรือไม่”

ผู้แทนซีเมนส์ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “No”

พร้อมอธิบายสั้น ๆ ว่า “เพราะกระบวนการผลิตต้องใช้ทักษะเฉพาะ ซึ่งเป็นสกิลสูง ที่แม้แต่โรบอตก็ทำแทนไม่ได้ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมาเป็นเครื่องมือ เครื่องทุ่นแรง”

ปัจจุบัน Siemens มีงานล้นมือ เพราะทั่วโลกมุ่งสู่การขนคนแทนขนรถ จึงเป็นผู้ผลิตที่มีประสบการณ์ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟระหว่างเมือง รถไฟความเร็วสูง รถราง ตู้รถไฟสำหรับผู้โดยสาร ยานพาหนะไร้คนขับ และหัวรถจักร

ความเป็นพรีเมี่ยมของยุโรปจึงเป็นมนต์ขลัง เปรียบเหมือนระบบสุขาภิบาลที่ญี่ปุ่นเป็นเลิศ

ความต่างนี่เอง ! ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ต้องสลัดภาพลักษณ์และสปีดตัวเองให้เสมอหรือแซงหน้าเร็ววัน