กทม.เร่งสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง”สะพานพระราม7-กรมชล-บางพลัด”

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.62 นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมด้วยคณะกรรมการวิสามัญฯ ลงพื้นที่ตรวจสภาพความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 (ฝั่งพระนคร) ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน พื้นที่เขตบางซื่อและเขตดุสิต และช่วงที่ 3 (ฝั่งธนบุรี) ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด พื้นที่เขตบางพลัด

โดยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนด ทั้งในด้านการศึกษาแผนแม่บท การจัดทำแบบรายละเอียด โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ในการปรับปรุงรูปแบบก่อสร้างไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในการดำเนินการได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคสังคม มีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนในหลายช่องทาง ทั้งการพบปะกับชุมชนโดยตรง และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ทำให้สามารถสร้างความเข้าใจที่รอบด้านแก่ประชาชนและสังคม จนได้รับความร่วมมือดีขึ้นเป็นลำดับ

รวมทั้งยังได้มีการให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและยินยอมย้ายออกไป โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ช่วยเหลือจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยบางส่วนได้ย้ายไปที่อยู่อาศัยใหม่ที่แฟลต ขส.ทบ. รวมถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่ อ.บางใหญ่ และ อ.บางกร่าง จ.นนทบุรี ซึ่งเมื่อประชาชนได้ย้ายไปที่อยู่อาศัยใหม่แล้ว จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นโครงการมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมือง มีเป้าหมายหลักคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอีกด้วย

โดยรูปแบบโครงการ ประกอบด้วยการก่อสร้างทางเดินทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยาความกว้างประมาณ 6-10 ม. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้นทางการเข้าถึง ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ

แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. งบประมาณ 1,770 ล้านบาท โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึงคลองรอบกรุง ระยะทาง 3.26 กม. งบประมาณ 2,470 ล้านบาท โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. งบประมาณ 2,061.5 ล้านบาท โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึงคลองบางยี่ขัน ระยะทาง 2.98 กม. งบประมาณ 2,061.5 ล้านบาท

โดยรูปแบบของทางเดิน ทางจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 ม. ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบัน ประมาณ 1 ม. ดังนั้นจะไม่บดบังทัศนียภาพสิ่งก่อสร้างริมน้ำ ไม่บดบังภูมิทัศน์และวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีตะแกรงใต้ตอม่อเพื่อการกักเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้น้ำไหลเวียนได้สะดวก ไม่ก่อให้เกิดแรงกระแทก การกัดเซาะหรือเปลี่ยนทิศทางน้ำ

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงระบบการขนส่งทางน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และมีทัศนียภาพเหมาะสมเมื่อระดับน้ำลดลง เมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้จัดให้มีระบบป้องกันมิให้รถจักรยานยนต์ หาบเร่แผงลอยเข้ามาในบริเวณทางเดินริมแม่น้ำ มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ไฟฟ้าแสงสว่าง การตรวจตราสอดส่อง ตลอดจนจัดให้มีศูนย์บริการเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวและดูแลเรื่องความปลอดภัย

นายนิรันดร์ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนั้น เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งความสะดวกในการเดินทางด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรในชุมชนริมแม่น้ำ ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางบก ทางน้ำและทางราง ตลอดจนเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเติมเต็มภาพความเป็นเมืองที่เจริญอย่างยั่งยืนให้แก่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ให้ความร่วมมือและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในช่วงผ่านมา สำหรับข้อทักท้วง ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ขอเรียนว่า ข้อทักท้วงต่างๆ ที่มีการเผยแพร่และนำเสนอต่อสื่อต่างๆ นั้น บางส่วนมีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง


อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น ขณะเดียวกันในส่วนของข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ กรุงเทพมหานครก็ยังได้พิจารณานำมาใช้ในการปรับปรุงแบบก่อสร้างโครงการฯ อีกด้วย ในส่วนของความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการฯนั้น พบว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. ในฝั่งพระนคร และช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. ในฝั่งธนบุรี จะสามารถดำเนินโครงการได้ ทั้งนี้เมื่อมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 540 วัน หรือ 2 ปี