“แผ่นดินไหว” 5 ปี รัฐบาล คสช. แก้ไขกฎหมายไม่คืบ ต้องรอถึงเมื่อไหร่ ?

22 พฤศจิกายน 2562 สกสว. (สนง.คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ร่วมกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร จัดแถลงข่าว “ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศลาวต่อประเทศไทย และแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือ”

เหมือนน้ำลดตอผุด เพราะทำให้เป็นโอกาสย้อนรอยเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในปี 2557 ที่มีภาพเหตุกาณณ์วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เสียหายบางส่วน และมีกระแสการปรับปรุงกฎหมายกระหึ่มขึ้นมาอีกระลอก

จากวันนั้นถึงวันนี้ ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายได้รับคำยืนยันจาก “ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย” สุดยอดกูรูด้านแผ่นดินไหวของประเทศไทย จากสำนัก AIT แสดงข้อคิดเห็นเพียงสั้น ๆ ว่า “…อาจเป็นเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญก็เลยล่าช้า”

6 ริกเตอร์ในลาวเขย่าขวัญคนกรุง

สด ๆ ร้อน ๆ แผ่นดินไหว ขนาด 5.9 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว เช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เขย่าขวัญคนกรุงแม้ระยะทางห่างถึง 600-700 กม. สาเหตุเพราะอาคารสูงหลายแห่งในมหานครกรุงเทพได้รับแรงสั่นสะเทือน “จนรู้สึกได้”

“ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ระบุ 3 ปัจจัยจากเหตุการณ์นี้

1.สภาพชั้นดินกรุงเทพฯเป็นดินเหนียวอ่อน ทำให้ขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้น 3-4 เท่า

2.ตึกสูงทั้งคอนโดมิเนียม ออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ ตั้งแต่ 10 ชั้นขึ้นไปมีค่าความถี่ธรรมชาติพ้องกับดิน ทำให้สั่นแรงผิดปกติ และ 3.อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. หากก่อสร้างก่อนปี 2550 มีแนวโน้มไม่ได้ออกแบบรองรับแผ่นดินไหว

“ผลกระทบแผ่นดินไหวในลาวครั้งนี้อยู่ในขั้นน้อยถึงปานกลาง อาจทำให้ฝ้าเพดาน ผนังได้รับความเสียหายบ้าง แต่โครงสร้างไม่มีความเสียหายมากนัก อย่างไรก็ตาม เจ้าของอาคารไม่ควรประมาท ควรจัดให้มีวิศวกรโครงสร้างตรวจสอบอาคารในจุดหลัก เช่น คาน เสา กำแพงรับแรงเฉือน”

หลักปฏิบัติอาคารเก่า-ใหม่

เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดเมื่อใด ขณะที่กรุงเทพฯมีอาคารหนาแน่น ทำให้อาคารบางลักษณะอาจมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เช่น

1.ตึกแถว เพราะมีลักษณะเสาเล็กแต่คานใหญ่ 2.อาคารพื้นท้องเรียบไร้คาน 3.อาคารสูงที่มีลักษณะไม่สมมาตรหรือพื้นที่ชั้นล่างเปิดโล่ง 4.อาคารที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ข้อต่อไม่แข็งแรง และ 5.อาคารที่ต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมีข้อแนะนำและเตรียมความพร้อมรับมือโครงสร้างอาคารให้แข็งแรง 2 ข้อหลัก

1.”อาคารสร้างใหม่” ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดใน “กฎกระทรวงการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว” เริ่มบังคับใช้ปี 2550 เป็นต้นมา

รวมทั้งวิศวกรผู้ออกแบบต้องใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ ยผ.1302

2.”อาคารเก่าสร้างก่อนปี 2550″ ซึ่งมีแนวโน้มไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว จึงควรประเมินและเสริมความแข็งแรงอาคารในกรณีที่ตรวจพบว่าอาคารไม่แข็งแรงพอ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ติดตั้งโครงเหล็กค้ำยัน การหุ้มด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์-เหล็ก การพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น

คู่มือตรวจสอบอาคาร 9 ข้อ

โอกาสเดียวกันนี้ “วสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์” นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร แนะ 9 ข้อเป็นแนวทางตรวจสอบอาคารหลังแผ่นดินไหว

1.”ของที่ร่วงหล่นได้” เช่น เครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร ฯลฯ 2.”ลิฟต์” ทดสอบวิ่งขึ้น-ลงจากล่างสุดถึงบนสุด ดูว่ามีการติดขัดหรือสั่นสะเทือนผิดปกติหรือไม่

3.”ท่อน้ำแนวดิ่ง” ได้แก่ ท่อประปา ท่อน้ำระบบแอร์ มีการแตกรั่วซึมหรือไม่ 4.”ท่อก๊าซหุงต้ม” ตรวจดูที่ตั้งถังก๊าซและตลอดแนวท่อก๊าซมีการรั่วซึมหรือมีกลิ่นก๊าซรั่วหรือไม่

5.”สายไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้าแนวดิ่ง” ตรวจมีการลัดวงจร กลิ่นไหม้ มีความร้อน มีสิ่งผิดปกติหรือเปล่า ทั้งนี้ กรณีอาคารที่ใช้บัสดักต์ (busduct) ที่ไม่รองรับแผ่นดินไหวแทนสายไฟ อาจทำให้ฉนวนเสียหาย เมื่อใช้อาจเกิดระเบิดได้

6.”คูลลิ่งทาวเวอร์-ถังเก็บน้ำดาดฟ้า” ตรวจความเสียหาย ความมั่นคงดูว่ามีการแตกร้าว น้ำรั่ว ยึดติดแข็งแรงอยู่กับฐานหรือไม่ 7.”ระบบดับเพลิง” ตรวจให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องทั้งท่อดับเพลิง สปริงเกอร์ วาล์วควบคุมการจ่ายน้ำ

8.”งาน hot work” กรณีอาคารที่อยู่ระหว่างรีโนเวตหรือกำลังก่อสร้าง ตรวจดูการรั่วไหลของก๊าซในอาคาร และความพร้อมของระบบดับเพลิงก่อนทำงาน 9.อาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง ควรได้รับการตรวจสอบอาคารจากผู้ตรวจสอบอาคารที่มีความรู้ก่อนการใช้งาน

จี้แก้ กม.คุมพื้นที่เสี่ยงภาคเหนือ

ในด้านการปรับปรุงกฎหมายรับมือแผ่นดินไหว “ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างพื้นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ระบุว่า กำลังทำเรื่องการปรับปรุงกฎหมายแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ กรุงเทพฯในฐานะมีตึกสูงหนาแน่น จะได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวจาก 3 แหล่งกำเนิดด้วยกัน 1.รอยต่อเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย ความแรง 8-9.5 ริกเตอร์ ห่างกรุงเทพฯ 1,200 กม.

2.รอยเลื่อนทางภาคเหนือและ สปป.ลาว 6-7 ริกเตอร์ ห่าง กทม. 600-700 กม. และ 3.รอยเลื่อนภาคตะวันตก (ศรีสวัสดิ์, เจดีย์สามองค์) และรอยเลื่อนสะแกงในเมียนมา ความแรง 6-8 ริกเตอร์ ห่าง กทม. 200-400 กม.

“แผ่นดินไหวศูนย์กลางเกิดห่างไกลแล้วมาไหวในกรุงเทพฯ เราเจอได้ง่ายอาจทุก 2-3-5 ปี คนอยู่บนตึกสูงจะรู้สึกได้ ส่วนเหตุการณ์สั่นรุนแรงกว่านี้เกิดขึ้นยาก แต่เหตุการณ์ที่เรากลัวจริง ๆ ถึงแม้จะเกิดยากมาก ๆ และไกลมาก ๆ เช่น เมื่อ 14 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน 9 ริกเตอร์ แต่โชคดีที่ชี้ออกนอกทิศทางกรุงเทพฯ ชี้ไปบังกลาเทศ สิ่งที่กลัวคือถ้าเกิดแผ่นดินไหว 8-9 ริกเตอร์ที่ฝั่งตะวันตก พม่า ถ้าทิศทางย้อนกลับมาจะชี้เข้าเมืองไทย ซึ่งเคยเกิดเมื่อ 300 ปีที่แล้ว”

สำหรับเหตุแผ่นดินไหวรอบนี้ “ดร.เป็นหนึ่ง” กล่าวว่า ภาคเหนือมีความเสี่ยงต้องการปรับปรุงกฎหมาย โดยมีประกาศอาคารในเขตพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว 10 จังหวัด เดิมไม่เข้าข่ายวิศวกรรมควบคุม หมายถึงไม่ต้องเซ็นก่อสร้าง ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายให้อาคาร 150 ตารางเมตรขึ้นไปให้ถือว่าต้องมีวิศวกรควบคุม

ประเด็นคือ กฎหมายที่ใช้ปัจจุบันควบคุมการออกแบบและก่อสร้างอาคารสูง 15 เมตร หรือ 5 ชั้นขึ้นไป แต่ในข้อเท็จจริงอาคารในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัดภาคเหนือส่วนใหญ่สร้างสูงตั้งแต่ 1-2-3 ชั้นเท่านั้น จึงมีการเสนอแก้ไขให้ลดความสูงเหลือ 10 ชั้น เพื่อสามารถควบคุมดูแลอาคารเตี้ย โดยเฉพาะบ้านพักอาศัย ตึกแถวที่มีจำนวนมาก

“ภาคเหนือมีโอกาสรับผลกระทบเกิดแผ่นดินไหว 8 ริกเตอร์ ทุกอาคารในพื้นที่เสี่ยงควรต้านแผ่นดินไหว การลดความสูงจาก 15 เมตรให้เหลือ 10 เมตร ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มองว่าเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเคยมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว แต่ขั้นตอนไปติดอยู่กฤษฎีกาเกี่ยวกับการย้ายบทบัญญัติกฎหมายจากแนบท้ายกระทรวงมาไว้ที่กฎกระทรวง เรื่องนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ กม.ก็เลยล่าช้าโดยปริยาย”