เบื้องลึกผลัดใบ 2 อธิบดี “กรมท่า-กรมราง” สนองการเมืองเปลี่ยนขั้ว

เมื่อการเมืองและภารกิจงานไม่เหมือนเดิม การคัดสรรผู้มานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จึงไม่แปลกที่ชื่อ “ทวี เกศิสำอาง” รองอธิบดีกรมทางหลวงจะข้ามห้วยมานั่งเป็นใหญ่รอเกษียณปี 2564

ปาดหน้า 3 ลูกหม้อรองอธิบดีที่ร่วมเป็นแคนดิเดต “จรุณ มีสมบูรณ์” รองด้านมาตรฐาน “สมเกียรติ
มณีสถิตย์” รองด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ “วิทวัส ภักดีสันติสกุล” รองด้านเศรษฐกิจ

หากไม่มีดราม่าคลื่นแทรก “ทวี” น่าจะเข้าป้าย ซึ่งโปรไฟล์นั้นไม่ธรรมดา กว่าจะขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวง เป็นผู้อำนวยการแขวงคุมภาคอีสาน ผ่านงานประมูลสัญญาใหญ่อย่างระบบเก็บเงิน 2 มอเตอร์ใหม่สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-โคราช

ด้านคอนเน็กชั่น ว่ากันว่า ได้แรงหนุนจากทีมบุรีรัมย์และกลุ่มเพื่อนวิศวะเกษตรศาสตร์ นับเป็นคนนอกคนที่ 2 ต่อจาก “ดรุณ แสงฉาย” จากบิ๊กกรมถนนโดดมาคุมงานทางอากาศ

ในยุคที่การก่อสร้างสนามบินภูธรกำลังผลิบาน ด้วยงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2563 มีงบลงทุน 6,000 ล้านบาท เช่น ซื้อครุภัณฑ์ สนามบินนราธิวาส และเบตง สร้างอาคารผู้โดยสาร ลานจอด และหลุมจอด ที่สนามบินตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ และสุราษฎร์ธานี

ยังเตรียมปักหมุด จ.นครปฐม เนรมิตที่ดิน อ.บางเลน และ อ.นครชัยศรี 3,500 ไร่ เป็นสนามบินแห่งใหม่ รองรับเครื่องบินส่วนตัว หรือไพรเวตเจ็ต แห่งแรกของประเทศไทย ใช้เงินลงทุน 25,000 ล้านบาท

แม้ “ทย.” จะเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของ “ถาวร เสนเนียม” พรรคประชาธิปัตย์ แต่ “เสี่ยโอ๋-
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นคนคุมภาพใหญ่

ในเมื่อวันนี้ “ทย.” ไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นเรกูเลเตอร์ หลังถูกผ่องถ่ายไปอยู่กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แต่กำลังมีแผน 10 ปี ทุ่มสร้างขยายสนามบิน วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท รับอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวที่เติบโต

โดยระยะที่ 1 (2561-2565) วงเงิน 27,248 ล้านบาท ปรับปรุง 17 สนามบิน ได้แก่ 1.ภาคเหนือ 2,529 ล้านบาท ที่ จ.ลำปาง, แพร่, แม่สอด จ.ตาก 2.ภาคอีสาน 4,692 ล้านบาท ที่ จ.เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, บุรีรัมย์ และ 3.ภาคใต้ 20,027 ล้านบาท ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, นราธิวาส และเบตง จ.ยะลา

และระยะที่ 2 (2566-2570) วงเงิน 7,259 ล้านบาท ปรับปรุง 8 สนามบิน อาทิ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จ.แพร่ จ.สกลนคร

“งานพัฒนาสนามบินภูมิภาคงานเรกูเลเตอร์ถูกโอนไปให้ กพท.ดูแล้ว ยังเหลืองานเทคนิค ความปลอดภัย ที่สามารถจะเรียนรู้ได้ แต่ภารกิจของ ทย.ต่อไปคือการขยายสนามบินให้รับผู้โดยสารและเครื่องบินขนาดใหญ่ได้มากขึ้น อาจจะมีทั้งใช้งบฯลงทุนจากรัฐและเปิดลงทุน PPP เป็นสิ่งที่อธิบดีคนใหม่จะต้องมาขับเคลื่อน การคัดเลือกคนมาเป็นผู้นำต้องเลือกในหลาย ๆ ด้าน” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกองทุนค่าธรรมเนียมการใช้บริการสนามบินมีอยู่ 1,500 ล้านบาท และในอนาคตคาดว่า
จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ให้สามารถนำมาพัฒนาสนามบินได้โดยไม่ต้องส่งคืนให้กับกรมบัญชีกลาง ซึ่งที่ผ่านมา
ได้แก้กฎหมายแล้วรอการบังคับใช้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องการคนที่ตัดสินใจเร็ว รู้ระเบียบมารันงาน เพื่อนำเงินส่วนนี้มาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เร็ว ไม่ต้องรอของบฯจากรัฐ เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ

อีกเก้าอี้ที่การคัดสรรสะเด็ดน้ำ คือ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ถึงจะเป็นกรมน้องใหม่ แต่คุมระบบรางทั่วประเทศ ล่าสุดชื่อ “สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” รองอธิบดีเต็งจ๋ามีแนวโน้มสูงจะได้นั่งเก้าอี้ใหญ่ในไม่ช้านี้

 

คลิกอ่าน >>> ครม.ไฟเขียว “ทวี” นั่งอธิบดีกรมท่าอากาศยาน “สรพงศ์” เลื่อนขั้นนั่งอธิบดีกรมรางอายุน้อยสุด