“เจ้าท่า” ทุ่มพันล้านปรับโฉม 29 ท่าเรือเชื่อมรถไฟฟ้าบูมเที่ยวทางน้ำ

ท่าเรือโฉมใหม่ - กำลังเร่งปรับปรุงท่า เรือแม่น้ำเจ้าพระยาและนนทบุรี ให้เป็น สถานีเรือ "เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งปีใหม่นี้จะนำร่องอวดโฉมที่"ท่าเรือกรมเจ้าท่า" เป็นแห่งแรกด้วยงบประมาณ 3 ล้านบาท ในปีหน้าเสร็จอีก 4 แห่ง

“กรมเจ้าท่า” เด้งรับนโยบาย “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” ทุ่มพันล้าน ปรับโฉม 29 ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา กทม.-นนท์ผุด “สถานีเรือ” รับรถไฟฟ้า การท่องเที่ยวริมน้ำ ประเดิม “สาทร-ท่าเตียน-ท่าช้าง” อวดโฉมปีหน้า รฟม.ประมูลสร้างท่าเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมสายสีม่วง กทม.รอแบบทางเลียบเจ้าพระยานิ่ง ลุยบางโพ รับสายสีน้ำเงิน

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมเจ้าท่าได้รายงานความคืบหน้าการปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพฯ และจ.นนทบุรี ทั้ง 29 ท่า ให้เป็นสถานีเรือ ขณะนี้ได้ปรับปรุงท่าเรือกรมเจ้าท่าเสร็จแล้ว ใช้งบฯดำเนินการ 3 ล้านบาท จะเสร็จสมบูรณ์ช่วงเทศกาลปีใหม่

ปี’63 ยกเครื่องเสร็จ 4 แห่ง

ในปี 2563 จะดำเนินการอีก 4 ท่าเรือ ใช้งบฯ 150 ล้านบาท ได้แก่ ท่าช้าง 40 ล้านบาท ท่าเตียน 40 ล้านบาท ราชินี 30 ล้านบาท และวัดโพธิ์ 40 ล้านบาท จะดำเนินการเสร็จภายในปี 2563

รูปแบบโครงการในภาพรวมจะสร้างเป็นระบบปิดแบบเปิดโล่ง (open air) ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่โดยสารและพื้นที่สาธารณะ มีระบบรักษาความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิดติดตั้งทุกท่า และกำลังประสานงานขอความร่วมมือไปยัง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG เพื่อติดตั้งห้องน้ำไว้บริการประชาชน จะเน้นท่าเรือที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางก่อน

“การปรับปรุงท่าเรือสาทรจะรวมอยู่ในแผนที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 เช่นกัน ส่วนการเปิดพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณท่าเรือ ยังอยู่ระหว่างหารือกับกรมทางหลวงชนบท” นายอธิรัฐกล่าว

ถม 1 พันล้านปรับโฉม 29 แห่ง

แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนพัฒนาท่าเรือบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพฯและนนทบุรี ทั้ง 29 แห่งให้เป็นสถานีเรือ เพื่อให้มีความทันสมัยและปลอดภัย รวมถึงเชื่อมโยงกับการเดินทางโหมดอื่น เช่น รถไฟฟ้าที่สร้างเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) สายสีน้ำเงิน สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีเขียว

ขณะนี้วางแผนการดำเนินการไว้ 3 ระยะ ใช้งบประมาณในการปรับปรุงทั้งสิ้น 1,014 ล้านบาท ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปี 2563 มี 3 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือท่าเตียน และท่าเรือสาทร ระยะที่ 2 (2564-2565) จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 15 ท่า รูปแบบหลัก ๆ มีอาคารพักคอย และระยะที่ 3 (2565-2566) อีก 11 ท่า รูปแบบหลักมีทั้งปรับปรุงและก่อสร้างอาคารพักคอยใหม่ ซึ่งโครงการทั้งหมดไม่จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์

ส่วนงบประมาณ 1,014 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1.ค่าปรับปรุงท่าเรือสาทรให้เป็นระบบปิด 12 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จปี 2563 2.ค่าปรับปรุงท่าเรือท่าช้างและท่าเตียนให้เป็นระบบปิด 112 ล้านบาท ดำเนินการปี 2563 3.ค่าศึกษาวางแผนเพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ 40 ล้านบาท ดำเนินการปี 2564-2565 4.ค่าปรับปรุงท่าเรือเป็นระบบปิดทั้งหมด 800 ล้านบาท ดำเนินการปี 2564-2565 และ 5.ค่าติดตั้งระบบซอฟต์แวร์และระบบการควบคุมภายในท่าเรือ 50 ล้านบาท ดำเนินการปี 2565

สาทร-ท่าช้าง-ท่าเตียน เสร็จปีหน้า

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในปี 2563 จะมี 3 ท่าเรือเป็นโครงการนำร่อง จะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าจะทำเป็นระบบปิดอย่างไร และแบ่งกับพื้นที่สาธารณะอย่างไร รูปแบบส่วนมากก็จะประกอบด้วย ส่วนของพื้นที่พักคอย กับพื้นที่ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ และจะพยายามให้เป็น open air เสียส่วนใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ต้องศึกษาก่อนว่าแต่ละท่ามีศักยภาพแค่ไหน เบื้องต้นอาจจะต้องให้เอกชนยื่นข้อเสนอโดยใช้ระเบียบของกรมธนารักษ์ เนื่องจากท่าเรือเป็นพื้นที่สาธารณะ ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมธนารักษ์ก่อน

สำหรับการปรับปรุงท่าเรือสาทร มีพื้นที่ 700 ตร.ม. ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ที่ 35% จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้ ส่วนท่าเรือท่าช้างกับท่าเตียน ขณะนี้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ทั้ง 2 ท่าเรือ เพื่อขอเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ทั้ง 2 ท่าใช้งบประมาณ 112 ล้านบาท

แบ่งเป็น ท่าเรือท่าช้างประมาณ 60 ล้านบาท และท่าเตียนอีกประมาณ 50 ล้านบาท โดยท่าช้างจะมีพื้นที่ประมาณ 1,500 ตร.ม. ต้องดำเนินการรื้อย้ายบ้านไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำออกทั้งหมด ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯได้ยกเลิกสัญญาเช่าทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กรมดำเนินการก่อสร้างเป็นท่าเรือขนาดใหญ่สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว มีความคืบหน้าก่อสร้างขณะนี้อยู่ที่ 15% มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 ธ.ค. 2563

“ที่ท่าเตียนมีพื้นที่ประมาณ 600 ตร.ม. จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯเพิ่งให้เข้าพื้นที่ได้เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 12 ส.ค. 2563” แหล่งข่าวกล่าวและว่า อีก 26 ท่าที่เหลืออยู่ระหว่างของบประมาณปี 2564 เพื่อจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการพัฒนาท่าเรือทุกท่า จะของบประมาณที่ 40 ล้านบาท

ลุยท่าบางโพ-พระนั่งเกล้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับท่าเรือบางโพเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระ ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับไปดำเนินการเอง โดยจะดำเนินการพร้อมกับโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในเฟสแรก ช่วงสะพานพระราม 7-บางพลัด

ขณะที่ท่าเรือพระนั่งเกล้าจะเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ ทาง รฟม.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง อยู่ระหว่างจะเปิดประมูล ซึ่งโครงการนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว


เมื่อปี 2558 เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เชื่อมต่อสถานีสะพานพระนั่งเกล้า โดยให้ก่อสร้างท่าเรือเพิ่มในฝั่งกรุงเทพฯ ที่มีความทันสมัย มีอาคารผู้โดยสาร และทางเดินเชื่อม (walk way) และสะพานข้ามแยก เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการรถไฟฟ้า วงเงิน 99 ล้านบาท