ดันสุดลิ่มสนามบินนครปฐม ยักษ์ธุรกิจรุมสัมปทาน30ปี

“ถาวร” ดันสนามบินใหม่นครปฐม 2.5 หมื่นล้าน รับไพรเวตเจ็ต ลดแออัดสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง เปิดเอกชนร่วม PPP ลงทุน 2 หมื่นล้าน แลกสัมปทาน 30 ปี เปิดซาวเสียง 120 บริษัท อิตาเลียนไทย แอร์เอเชีย คิง เพาเวอร์ อิโตชู สนใจ กลางปีหน้าชง ครม.อนุมัติ

กระแสการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมได้รับการผลักดันอีกครั้ง ล่าสุด กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้เปิดทดสอบความสนใจของเอกชน (market sounding) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 พร้อมเปิดทางให้เอกชนร่วมลงทุน แลกกับการรับสัมปทานบริหารโครงการเป็นเวลา 30 ปี เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก

เล็ง 2 จุดสนามบินใหม่

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังได้ข้อสรุปที่ตั้งสร้างสนามบินนครปฐมในพื้นที่ 2 อำเภอของ จ.นครปฐม ได้แก่ อ.บางเลน ต.บางระกำ ต.ลำพญา และ อ.นครชัยศรี ต.บางแก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด จำนวน 3,500 ไร่ คาดใช้เงินลงทุน 25,195.36 ล้านบาท ถ้าจะให้โครงการพัฒนาเร็วขึ้นก็ต้องให้เอกชนลงทุน

ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่มีแนวโน้มแออัด รวมถึงรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ปัจจุบันมีมากถึง 2,000 เที่ยว/ปี ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษาสร้างสนามบินใหม่ที่ จ.นครปฐม เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 10 นาที และห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 5.3 กม.

“สนามบินนครปฐมจะรองรับกลุ่มเป้าหมายเป็นเครื่องบินส่วนตัว หรือไพรเวตเจ็ต เพราะปัจจุบันหาพื้นที่จอดยาก ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต อาจมีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เข้ามาใช้บริการด้วย”

นายถาวรกล่าวอีกว่า รูปแบบจะสร้างในพื้นที่ 3,500 ไร่ มีทางวิ่งขนาด 45 x 2,500 เมตร ที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ 115,740 ตร.ม. รับผู้โดยสารได้ 5,100 คน/ชั่วโมง จอดรถได้ 4,200 คัน สถานะโครงการอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดลอม (EIA) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562

ปีหน้าชง ครม.อนุมัติ

“ผลศึกษาจะเสร็จเดือน ก.พ. 2563 จากนั้นจะขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรีกลางปีหน้า เพื่อดำเนินตามขั้นตอน เช่น ขออนุมัติรายงาน EIA ตามแผนจะเริ่มสร้างปี 2566 ใช้เวลา 3 ปี เปิดบริการปี 2569 มีผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 3.3 ล้านคน/ปี เที่ยวบิน 15,000 เที่ยว/ปี ผู้โดยสารธุรกิจ 10,000 คน/ปี เที่ยวบิน 3,500 เที่ยวบิน/ปี ปี 2589 จะมีผู้โดยสารพาณิชย์ 30 ล้านคน/ปี เที่ยวบิน 111,000 เที่ยวบิน/ปี ผู้โดยสารธุรกิจ 35,000 คน/ปี เที่ยวบิน 11,800 เที่ยวบิน/ปี”

แหล่งข่าวจาก ทย.เปิดเผยว่า พื้นที่ทั้งหมดจะเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน 200-300 กว่าราย ประมาณ 400 แปลง ค่าเวนคืน 3,461.52 ล้านบาท ส่วนการลงทุนจะให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost 33 ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง 3 ปี และได้สัมปทานบริหาร 30 ปี

โดยมี 3 รูปแบบ คือ 1.รัฐลงทุนค่าที่ดิน 3,461.52 ล้านบาท เอกชนลงทุนก่อสร้างทั้งหมด 21,733.84 ล้านบาท โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐ 5% มี FIRR 11.71% เวลาคืนทุน 18.67 ปี 2.รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน 16,277.15 ล้านบาท เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบิน 8,918.21 ล้านบาท โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐ 50% มี FIRR 11.35% มีระยะคืนทุน 20.25 ปี และ 3.รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ 17,021.66 ล้านบาท เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ 8,173.70 ล้านบาท โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% มี FIRR 11.47% ระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี

“ทั้ง 3 รูปแบบเป็นเพียงโมเดลเริ่มต้น สามารถปรับได้ เพราะการศึกษาโครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ หลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว รัฐจะต้องปรับให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการสนามบินนครปฐมมีเนื้องานหลัก ๆ คือ1.งานสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน 2,368.15 ล้านบาท 2.งานระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 506.98 ล้านบาท 3.งานปรับปรุงดิน 3,290.16 ล้านบาท 4.งานอาคารผู้โดยสาร 6,512.37 ล้านบาท 5.อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน 16 หลัง 1,472.99 ล้านบาท 6.อาคารจอดรถ 1,438.47 ล้านบาท และงานอื่น ๆ 6,144.72 ล้านบาท

แอร์เอเชีย-คิง เพาเวอร์สนใจ

รายงานข่าวแจ้งว่า มีเอกชนร่วมสัมมนา 120 บริษัท เช่น ธุรกิจรับเหมา ธุรกิจการบิน และดิวตี้ฟรี อาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ส่วนต่างประเทศ เช่น อิโตซู จากญี่ปุ่นตัวแทนของอิโตซูกล่าวว่า จากข้อมูลที่รับฟังยังไม่ครบถ้วนเท่าไหร่ ต้องขอกลับไปหารือกับบริษัทอีกครั้งเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่นเดียวกับตัวแทนจากไทยแอร์เอเชียที่กล่าวสั้น ๆ ว่า “โครงการน่าสนใจ แต่ข้อมูลบางส่วนไม่ครบถ้วน อยากศึกษาให้รอบคอบ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ๆ”

ส่วนบรรยากาศในงาน เอกชนจะสอบถามถึงจุดที่ตั้งใกล้กับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกจะเป็นการแข่งขันกันหรือไม่ และคำนวณฐานผู้โดยสารจากสนามบินอู่ตะเภาหรือยัง ซึ่งทางทีมที่ปรึกษาตอบว่า “ไม่เป็นการแข่งขันกัน เพราะกลุ่มเป้าหมายของสนามบินนครปฐมเน้นผู้โดยสารไพรเวตเจ็ตและเชิงพาณิชย์บางส่วนเท่านั้น ส่วนอู่ตะเภามีกลุ่มเป้าหมายกว้างกว่า โดยคำนวณเทียบเคียงกับฐานผู้โดยสารของสนามบินอู่ตะเภาแล้ว”

และมีเอกชนบางส่วนถามถึงรูปแบบการลงทุนโดยเฉพาะสัดส่วนผู้ร่วมทุน เช่น นิติบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1 รายและต้องถือมากกว่า 25% ซึ่งส่วนใหญ่ในที่ประชุมนำไปเทียบเคียงกับโครงการของอู่ตะเภา โดยทีมที่ปรึกษาตอบว่า ไม่สามารถนำไปเทียบเคียงได้ เนื่องจากโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นการพัฒนาภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 และรูปแบบการลงทุนของเป็นการประมูลแบบนานาชาติด้วย และยังถามถึงการเชื่อมต่อกับระบบราง เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหินและรถไฟทางคู่