สตาร์ตไม่ติด เมกะโปรเจ็กต์ “ภูมิใจไทย” รื้อ-เร่งลงทุน 2 ล้านล้าน

กลางปี 2562 “กระทรวงคมนาคม” ผู้กุมเม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 44 โครงการ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” มูลค่าเฉียด 2 ล้านล้านบาท ผลัดใบจาก “รัฐบาลตู่ 1” สู่ “รัฐบาลตู่ 2″ ขับเคลื่อน โดยรัฐมนตรี 3 พรรค

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาฯพรรคภูมิใจไทย และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้คุมเบ็ดเสร็จ โดยมี “ถาวร เสนเนียม” พรรคประชาธิปัตย์ และ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” พรรคพลังประชารัฐ เป็นกองหนุน

ต่างพรรค ต่างวาระรัฐบาล ทำให้จังหวะการทำงานอาจเล่นคนละคีย์ การผลักดันงานใหญ่ ซึ่งเป็นความหวังของประเทศไทยจึงยังสปีดไม่ขึ้น

รื้อมากกว่าเร่ง

กว่า 4 เดือน งานเร่งจึงเป็น “งานรื้อ” โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ก็เกิดประเด็นจะประมูล PPP สร้างและเดินรถสัญญาเดียว หรือแยกหลายสัญญา รวมถึงรื้อผลเจรจาขยายสัมปทานทางด่วน ให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อแลกยุติข้อพิพาท 1.37 แสนล้านบาท จาก 30 ปี เหลือ 15 ปี 8 เดือน

นโยบายเขย่าแผนฟื้นฟูการบินไทย จากการซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ เป็นเช่าแทน เช่นเดียวกับล้มแผนซื้อรถเมล์ใหม่ ขสมก. 3,000 คัน เป็นการเช่า โดยให้เอกชนร่วม PPP

ส่วนโครงการรอยต่อรัฐบาลที่ใกล้ปิดจ็อบ มีบางโปรเจ็กต์ที่เซ็นสัญญาฉลุยมีมูลค่า 2.24 แสนล้าน คือ “ไฮสปีดเทรนสายเจ้าสัว ซี.พี.” ที่เจรจาร่วมปี

รวมถึงการกดปุ่ดเปิด “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” ส่วนต่อขยาย และ “สายสีเขียว”

ที่น่าสนใจและเป็นผลงานภูมิใจไทย คือ การปิดมหากาพย์ “ค่าเวนคืนที่ดิน” มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ทำให้โครงการกลับมา “รีสตาร์ต” สร้างเสร็จปลายปี 2566 หลังร้างมานานกว่า 2 ปี จากพิษที่ดินแพง 12,032 ล้านบาท จนไม่มีใครในรัฐบาล คสช. กล้าตีเช็คจ่าย

 

รีวิว 44 โครงการ

“ผมเต็มที่อยู่แล้วเรื่องผลักดันลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ อะไรที่อยู่ในแผนก็เดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการจ่ายค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่ และการเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

รวมทั้งงานแก้ปัญหาการก่อสร้างถนนพระราม 2 ถนนกัลปพฤกษ์” นายศักดิ์สยามกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

พร้อมย้ำว่า “ท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับท่านรองนายกฯ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ทวงถามแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่กับกระทรวงหลายครั้ง ที่ผ่านมาอาจมองว่าเราขับเคลื่อนช้า แต่เพื่อให้รอบคอบที่สุด บวกกับเพิ่งเข้ามาทำงานได้ 4 เดือน จึงต้องขอเวลาตรวจสอบงานแต่ละโครงการให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

จะหารือทุกหน่วยในสังกัดเรื่องการลงทุน 44 โครงการ วงเงินกว่า 1.99 ล้านล้านบาท (ดูตาราง) เพื่อวางไทม์ไลน์และรีวิวการลงทุนแต่ละโครงการใหม่อีกครั้ง

พร้อมนำโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดมาจัดวางเป็น “โครงการเร่งด่วน” หรือ action plan ในแต่ละปี รวมถึงแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ก่อสร้างทั้ง 4 แหล่ง จากงบประมาณ PPP กองทุน และเงินกู้ จากนั้นจะนำเสนอ ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ

โดยต้องอัพเดตข้อมูลให้ทันสมัยที่สุด เช่น มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ผลศึกษาเสร็จปี 2541 แต่ได้รับอนุมัติ ปี 2558-2559 หรือ 17-18 ปี ข้อมูลหลายส่วนล้าสมัยมาก

อีกทั้งกรอบงบประมาณเวนคืนที่ทำประกอบโครงการ ใช้ข้อมูลปี 2541-2556 จึงเกิด “ปัญหา” ในภายหลัง เพราะไม่ได้รวมการเกิดขึ้นของ “ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต”เมื่อปี 2558 และ “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” ที่เปิดใช้ปี 2559 ซึ่งมีผลกับราคาประเมินที่ดินมาก ทำให้แต่ละโครงการต้องแบ่งสัญญางานก่อสร้างเป็นหลายสัญญา เหมือนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ที่แบ่งสร้างถึง 40 สัญญา ทำให้งานก่อสร้างเดินหน้าเร็วขึ้น

รอชงโปรเจ็กต์ปี”63

สำหรับโครงการที่จะขออนุมัติปี 2563 ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ลงทุน PPP 30 ปี รวมระบบเดินรถทั้งโครงข่าย 122,041 ล้านบาท รอนายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีกำกับกระทรวงคมนาคม ทำความเห็นประกอบโครงการ เพื่อเสนอ ครม. หลังกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า ควรจะเสนอโครงการเป็น PPP ตามเดิม และได้ยกเลิกแนวคิดการแยกงานโยธาออกมา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ

2.รถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทาง 1,851 กม. ขณะนี้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปดูแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม เพราะการเปิดประมูลแบบเดิมอาจมีผลต่อภาระงบประมาณได้ หรือการลงทุนในรูปแบบ PPP จะทำได้หรือไม่ แม้แต่การนำโครงการเข้า “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย” หรือ TFFIF จะสามารถทำได้หรือไม่ โดยให้ทาง ร.ฟ.ท.ศึกษาหาข้อสรุป

“รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก กรุงเทพฯ-โคราช 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท ทางการรถไฟฯประมูลเสร็จแล้ว รอแค่อนุมัติผลประมูล ส่วนงานระบบกว่า 5 หมื่นล้าน รอเจรจากับจีนในเดือน ม.ค.ปีหน้า ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ”

กรมทางหลวง (ทล.) ปรับแผนงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ใหม่ทั้งหมด เพราะโครงการนี้จะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ที่จะเสนอ ครม.ในปี 2563 ด้วย

ลุยสุวรรณภูมิ เฟส 2

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ให้เร่งก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ตามแผน พร้อมเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion Terminal) ในสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,081 ล้านบาท

การลงทุนตามแผนแม่บทที่ต้องทำต่อไป คือ งานขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทางตะวันออกและตะวันตก (East-West Wing) หรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบิน เช่น ทางยกระดับ ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ก็ให้กรมทางหลวงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ และนำกลับมาพิจารณาต่อไป