กทม.เลื่อนเปิด “พระปกเกล้าสกายพาร์ค” สวนสาธารณะลอยฟ้าเป็น 15 พ.ค.63

เมื่อเวลา 15.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค)

โดยผู้ว่า กทม.กล่าวว่า ขณะนี้เนื้องานโดยรวมคืบหน้าไปแล้ว 62% โดยได้เลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของโครงการออกไป จากเดิมสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างวันที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นวันที่ 15 พ.ค. 2563 หรือขยายให้อีก 45 วัน เนื่องจาก กทม.เองก็ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนล่าช้ากว่าแผนนานกว่า 5-6 เดือน ติดปัญหาการประสานงานและขออนุญาตก่อสร้างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมเจ้าท่า โดยยืนยันว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในวันที่ 15 พ.ค. 2563 นี้แน่นอน เพื่อเป็นของขวัญรับเปิดเทอม

ส่วนเวลาเปิดปิดทำการ ยังต้องหารือกันอีกครั้งในภายหลัง เนื่องจากในบริเวณนี้มีจุดเสี่ยงเป็นแหล่งมั่วสุม หากให้มีการเปิดใช้ช่วงกลางคืนก็เกรงว่าจะเกิดอันตรายกับผู้สัญจรไปมาได้ จึงขอหารือเรื่องนี้ในภายหลัง

ทั้งนี้ ผู้ว่ากทม. ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2563 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.มีแผนจะปรับปรุงสวนและทำทางเดินเชื่อมกับคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับย่านท่องเที่ยวเก่าแก่อย่างเยาวราช บางลำพู ซึ่งสามารถต่อไปจนถึง ถ.ข้าวสารได้ เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว ยืนยันว่าถ้าตนยังอยู่ในตำแหน่งจะได้เห็นในปีหน้านี้แน่นอน

สำหรับโครงการสะพานพระปกเกล้าดังกล่าว เริ่มต้นจากปลายสะพานฝั่งพระนครเหนือสวนสมเด็จพระปกเกล้า เขตพระนคร ถึงปลายสะพานฝั่งธนบุรีเหนือ สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน ระยะทางประมาณ 280 เมตร มีทางขึ้น – ลงสะพาน 2 แห่ง เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้ และปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าว

โดยปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยาน เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน – คลองสานอีกด้วย

ผลงานโดยรวมอยู่ที่ 62% ประกอบด้วย เจาะเสาเข็มระบบแห้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ติดตั้งแนวป้องกันบนโครงสร้างสะพาน เทปูนฐานรากบนสะพาน และงานโครงสร้างบันไดฝั่งพระนคร ทั้งนี้ โครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน มีความยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีระยะห่างจากช่องทางเดินรถ สะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง 0.80 เมตร ความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ 9 เมตร เมื่อเทียบกับสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาออกจะอยู่ระดับสูงกว่าประมาณ 2 เมตร ที่ปลายสะพาน และระดับเท่ากันที่กลางสะพาน

ส่วนสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาเข้าจะมีระดับเท่ากันที่ปลายสะพานฝั่งธนบุรี ส่วนปลายสะพานฝั่งพระนครเป็นโครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งพระนคร ส่วนปลายสะพานฝั่งธนบุรีเป็น โครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ