CRSC ยักษ์รถไฟจีนเหมาระบบทางคู่สายใต้ 420 กม.-ร.ฟ.ท.ซื้อรถไฟฟ้าวิ่งรับเปิดปี’65

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2562 ได้เซ็นสัญญาจ้างบริษัท China Railway Signaliing (CRSC) จัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 420 กม. วงเงิน 6,210 ล้านบาท จะใช้เวลาดำเนินการ 36 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2565 ขณะนี้งานโยธาของสายใต้คืบหน้าประมาณ 40-50% จะสร้างเสร็จในปี 2564

“คาดว่างานระบบจะให้เริ่มงานปลายเดือน ม.ค.2563 พร้อมกับอีก 2สัญญา ที่เซ็นไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา“

สำหรับอีก 2 สัญญา วงเงินรวม 5,213 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 140 กม. วงเงิน 2,768 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า บีที – ยูเอ็น ประกอบด้วย บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกเนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการระยะเวลา 39 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.2566

และ 2.รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 130 กม. วงเงิน 2,445 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า The Consortium of Italian-Thai Development Public Company Limited and LSIS Co., Ltd., ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท LSIS Co., Ltd. เป็นดำเนินการ ระยะเวลา 45 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2566

“รถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ที่กำลังสร้าง 7 เส้นทาง ตอนนี้ได้ผู้รับจ้างงานระบบแล้วทั้ง 3 สัญญา วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะทยอยเปิดบริการจนครบทั้งหมดในปี 2567 ซึ่งเราเตรียมจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 50 คัน วงเงิน 6.5 พันล้านบาท และรถขบวนใหม่ จำนวน 184 คัน ที่วิ่งได้ทั้งดีเซลและไฟฟ้า วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยรถที่วิ่งให้บริการจะออกแบบด้วยความเร็ว 160 กม/ชม. จะนำมาวิ่งในเส้นทางรัศมี 250 กม. จากกรุงเทพฯในวันที่ 16 ม.ค.นี้จะเสนอบอร์ดอนุมัติโครงการเพื่อเปิดประมูล”

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเสนอผลแผนบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อในภาพรวมให้บอร์ดพิจารณาด้วย เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ โฆษณา เพื่อรองรับกับการเปิดบริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดบริการในเดือน ม.ค.2564


นายสวี จงเลียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท CRSC กล่าวว่า CRSC เป็นวิสาหกิจของจีนและดำเนินการงานระบบให้กับรถไฟความเร็วสูงของจีน นับเป็นเรื่องที่ดีที่ได้รับงานโครงการรถไฟทางคู่ของประเทศไทย ซึ่งทั้งไทยและจีนมีความสัมพันธ์การค้าและลงทุนร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทั้ง 1 แถบ 1 เส้นทาง ไทยแลนด์ 4.0 เขตเศรษฐกิจพิเศษพาคตะวันออก (EEC)