ที่สุดของที่สุดเมกะโปรเจ็กต์ 2562

เป็นประจำทุกปีที่ “ประชาชาติธุรกิจ” จะเปิดที่สุดของ “กระทรวงคมนาคม” เป็นการส่งท้ายปี ก่อนจะเข้าสู่วาระงานในปีต่อไป

สำหรับเหตุการณ์สำคัญตลอดปี 2562 หรือปีหมู ดูเหมือนงานของกระทรวงคมนาคมจะชุก แต่ก็ไม่หมูอย่างที่คิด โดยเฉพาะโครงการใหญ่ในบัญชีที่หลายคนรอลุ้น ต้องยกยอดไปว่ากันต่อในปี 2563 ยุค “คมนาคมยูไนเต็ด” มีพรรรคภูมิใจไทยคุมเบ็ดเสร็จ

รัฐมนตรีสายรื้อ-สายเท

เริ่มจากเจ้ากระทรวงคมนาคม “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ที่ร่วมงานกับ “รัฐบาลตู่ 2” ได้ 4 เดือนกว่า ๆ ก็ไฟแรงเฟ่อ จนได้ฉายา “โอ๋ แซ่รื้อ” จากผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล เพราะตั้งแต่เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ผุดไอเดียบรรเจิดจนคนต่อต้าน เช่น ติดตั้ง GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล ยังรื้อหลายโครงการที่เป็นปัญหา

เช่น รื้อมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รื้อคดีค่าโง่ทางด่วน รื้อหลักสูตรสอบใบขับขี่รื้อแผนท่าเรือปากบารา-สงขลา 2 รื้อแผนฟื้นฟู ขสมก. แม้แต่ไม้กั้นรถไฟยังถูกรื้อ

ขณะที่สื่อประจำกระทรวงคมนาคมก็แอบตั้งฉายาให้ว่า เป็น “รัฐมนตรีสายเท” หลังปล่อยให้ข้าราชการรอเก้อ จากการยกเลิกประชุมและคิวงานอยู่บ่อย ๆ

“คำว่า รื้อ ความหมายก็ง่าย ๆ นะครับ รื้อแล้วผลเป็นอย่างไร ถ้ารื้อแล้วผลทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ผมว่าก็ต้องรื้อ และจะรื้อต่อไป แต่ถ้ารื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็หยุดเท่านั้นเอง ถามว่าโอเคมั้ย กับฉายานี้ ผมไม่ยึดติดอยู่แล้ว ยังไงก็ได้ ส่วนที่ว่าผมชอบเท ก็ติดงานสำคัญจริง ๆ

ระยะทางสั้น…แต่โคตรแพง

มาต่อกันที่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นข่าวร้ายส่งท้ายปี กรณีการปรับค่าผ่านทาง “โทลล์เวย์” ระยะทาง 28 กม. จากดินแดง-อนุสรณ์สถาน มี บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง รับสัมปทานจากกรมทางหลวง ถึงคิวปรับตามสัญญา 15 บาท ทุก 5 ปี จนกว่าหมดอายุสัญญา 12 ก.ย. 2577

ล่าสุดรอบวันที่ 22 ธ.ค. 2562-22 ธ.ค. 2567 อัตราค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ เป็น 80 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ เป็น 110 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 30 บาท เป็น 35 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 40 บาท เป็น 45 บาท ตลอดทั้งเส้นทาง รถ 4 ล้อ จาก 100 บาทเป็น 115 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 140 บาท เป็น 155 บาท

อีกโครงการที่แพงไม่แพ้กัน ไม่ใช่ค่าผ่านทาง แต่เป็น “ค่าเวนคืนที่ดิน” เพื่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี มีระยะทาง 96 กม. แต่ใช้เงินเวนคืนถึง 17,452 ล้านบาท ในพื้นที่ 4 จังหวัด มากสุด จ.นนทบุรี กับนครปฐม ที่ราคาซื้อขายที่ดินแพงหูฉี่

ส่วนค่าก่อสร้างอยู่ที่ 38,638 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งโครงการ 55,927 ล้านบาท หลังได้เงินเวนคืนอัดฉีดจากรัฐเพิ่ม 12,032 ล้านบาท กรมทางหลวงกำลังเดินหน้าก่อสร้างอย่างเต็มสูบให้เสร็จเปิดใช้ปลายปี 2566

ไฮสปีดสายมาราธอน

อีกไฮไลต์ตลอดปี 2562 นั้นคือ โปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง 2 สายแรกของประเทศไทย ถึงจะใช้การดำเนินการต่างกัน แต่ความล่าช้าไม่ต่างกัน

สายแรกเป็นรถไฟความเร็วสูงสายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลจีน สร้างจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ที่รัฐบาลประกาศจะลงทุนก่อสร้างเอง ด้วยวงเงิน 179,412 ล้านบาท

ริเริ่มมาตั้งแต่ “รัฐบาลประยุทธ์ 1” ไหลมาถึง “ประยุทธ์ 2” ผ่านมา 5 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ยังประมูลและเซ็นสัญญาไม่จบไม่สิ้นสักที ถึงขณะนี้ได้แค่ถมคันดิน 3.5 กม. จากกลางดง-ปางอโศก และงานก่อสร้างช่วง 11 กม. ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก

ต่อกันที่สายที่ 2 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มีกลุ่มเจ้าสัว ซี.พี.เป็นผู้ลงทุน 224,554 ล้านบาท แลกกับสัมปทาน 50 ปี เดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสันและศรีราชา

ถึงจะยังไม่ได้ลงเสาเข็ม แต่กว่าจะได้ฤกษ์จดปากกาเซ็นสัญญาวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ใช้เวลาเจรจาร่วมปีถึงจะลงตัว รอลุ้นปี 2563 จะเปิดไซต์ก่อสร้างได้เมื่อไหร่ เพราะต้องรอแบบรายละเอียดและการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้พร้อมเสียก่อน

รอจนเหงือกแห้ง

ถ้าจะไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้ สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม. และช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กม. ใช้เงินก่อสร้างไป 101,136 ล้านบาท นับเป็นโครงการที่ใช้เวลาสร้างมาราธอนและใช้เงินลงทุนสูง

ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำลังเร่งสร้างและทดสอบระบบรถ ให้เสร็จเปิดบริการให้ทันเดดไลน์ในเดือน ม.ค. 2564 ตามที่ลั่นวาจาไว้ ถ้าไม่มาตามนัดมีหวัง “ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน” คงจะเป็นรถไฟฟ้าแม่สายบัวที่รอเก้ออีกเป็นแน่ เพราะสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555 แต่ถึงขณะนี้ยังไม่เปิดเดินรถ

เพราะต้องรอระบบและขบวนรถที่ไปผูกอยู่กับสัญญาที่ 3 ของช่วงบางซื่อ-รังสิต ถ้ายังไม่เปิดใช้ ไม่รู้ว่าโครงสร้างและรางจะสึกหรอไปอีกมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ ร.ฟ.ท.ต้องขอเงิน 130 ล้านบาท ซ่อมบูรณะสถานี ลิฟต์ บันไดเลื่อน ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้กับสัญญา 3 งานระบบที่ “กลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม” จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเตรียมทดสอบระบบปลายเดือน ม.ค. 2563 นี้

ใหญ่สุดในอาเซียน

ที่กำลังนับถอยหลังอวดโฉม “สถานีกลางบางซื่อ” สถานีต้นทางของสายสีแดง เมื่อแล้วเสร็จเปิดใช้ในปี 2564 นอกจากเป็นฮับระบบรางของประเทศไทยแล้ว ยังขึ้นแท่นเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยขนาดพื้นที่ใช้สอยรวม 264,862 ตร.ม. ที่จอดรถ 1,700 คัน มี 24 ชานชาลา สำหรับรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และแอร์พอร์ตลิงก์ รับผู้โดยสารได้ถึง 3 แสนคน/วัน ว่ากันว่าใหญ่น้อง ๆ สนามบินสุวรรณภูมิกันเลยทีเดียว

รูปแบบสถานีมี 4 ชั้น “ชั้นใต้ดิน” เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถ มีโถงเชื่อมต่อขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และมีทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อ “ชั้นพื้นดิน” เป็นโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร มีพื้นที่ชั้นลอยสำหรับควบคุมระบบการเดินรถ และต้อนรับบุคคลสำคัญ

พื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดเชื่อมต่อไปยังสถานีบางซื่อ รถไฟฟ้าใต้ดิน และพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า
“ชั้นที่ 2” เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล จำนวน 6 ชานชาลา สามารถตั้งขบวนรถได้ 12 ขบวน และ “ชั้นที่ 3” เป็นชั้นชานชาลารถไฟชานเมือง อยู่ตรงกลาง จำนวน 6 ชานชาลา

อุโมงค์แห่งความสุข

ปิดท้ายกันที่แลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ “อุโมงค์สามย่านมิตรทาวน์” ความยาว 200 เมตร ของ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ Golden Land ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ทุ่มงบฯกว่า 300 ล้านบาท เนรมิตสร้างเชื่อมกับสถานีสามย่านของสายสีน้ำเงิน เข้ากับศูนย์การค้าแห่งใหม่ “สามย่านมิตรทาวน์” เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2559 ล่าสุดเปิดใช้เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และกลายเป็นจุดเช็กอินทอล์กออฟเดอะทาวน์ในขณะนี้

อีกหนึ่งแลนด์มาร์กของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย นอกจากจะมี 4 สถานีใต้ดิน วิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยที่สุด ที่หลายคนไปปักหมุดมาแล้วไม่ว่า สถานีวัดมังกร สถานีวังบูรพา สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ

ยังมีสถานีที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสุดแปลกอย่าง “สถานีสิรินธร และสถานีสามแยกไฟฉาย” ของส่วนต่อขยายใหม่ในช่วงเตาปูน-ท่าพระ ที่สร้างเป็นสะพาน browstring แบบโครงเหล็กโค้งแห่งแรกของไทยเป็นสะพานรางรถไฟฟ้าข้ามแยกบางพลัด และแยกไฟฉาย แลนด์มาร์กใหม่ย่านฝั่งธนบุรี