20 ปีไม่มีเหนื่อย เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ปักหมุด EEC ชิงสัมปทานสายสีส้ม

คีรี กาญจนพาสน์

สัมภาษณ์

ปี 2563 เป็นปีที่ 21 ของบีทีเอสรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยที่ได้เปิดให้บริการคนกรุงเทพฯ นับจากวันที่ 5 ธ.ค. 2542 มี “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เป็นผู้ก่อสร้างและเดินรถ

กว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการสูงสุด 1 ล้านเที่ยวคน/วัน ต้องใช้เวลาร่วม 2 ทศวรรษ ฝ่ามรสุม ความยากลำบาก กว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะเป็นที่ยอดนิยมของคนเดินทาง

วันนี้บีทีเอสไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้าสายเดียว ยังทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท ก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทยสายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” และสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” แลกกับสัมปทานเดินรถ 30 ปี รวมถึงยังรับสัมปทาน 30 ปี เดินรถสายสีทอง “กรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน” ของกลุ่มไอคอนสยาม เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของประเทศไทยอีกเช่นกัน

ขณะเดียวกันยังขยายธุรกิจจากสัมปทานระบบรางไปสู่ “ระบบมอเตอร์เวย์” คว้างานรับจ้างติดตั้งระบบเก็บเงินค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงิน 39,100 ล้านบาท สายบางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ใกล้จะเซ็นปิดดีลในเดือน ก.พ.นี้ อีกทั้งรอลุ้นผลประมูลสัมปทาน 50 ปี เมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2.9 แสนล้านบาท ที่กลุ่มบีทีเอสผนึกพันธมิตรทุ่มหมดหน้าตัก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “คีรี กาญจนพาสน์” วัย 70 ปี จากวันแรกเป็นผู้บุกเบิกมาวันนี้เขานั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร BTSC กับภารกิจสำคัญในปีที่ 21 ของรถไฟฟ้าบีทีเอส

“BTS เปิดให้บริการรถไฟฟ้าครบ 20 ปี เป็นสายแรกของประเทศไทย ตอนทำก็คิดกลับไปว่าลำบากขนาดไหน ในการทำ mass transit ให้กับประชาชน และต้องใช้เวลาอีกหลายปีทีเดียวกว่าจะทำให้คนรู้ว่านั่งรถไฟฟ้าแล้วสะดวก รถไม่ติด และกว่าจะแนะนำว่าระบบคืออะไรก็ใช้เวลาพอสมควร ตอนสร้างก็มีคนต่อต้านพอสมควร ทุกอย่างผ่านไปแล้ว เป็นเรื่องเล็กที่ไม่ได้เก็บมาคิดอีก” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าเริ่มเท้าความหลัง

ถามว่า 20 ปีได้พัฒนาอะไรไปบ้าง เราพัฒนาไปทุกอย่าง ด้านเทคโนโลยีตัวรถ ได้ซื้อขบวนใหม่เพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการ จากเริ่มแรกปี 2542 มี 35 ขบวน รวม 105 ตู้ ได้ทยอยซื้อเพิ่มจนตอนนี้มี 85 ขบวน และในปีนี้รถใหม่ที่สั่งซื้อลอตใหญ่ 46 ขบวน กว่า 2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2559 จะมาครบทำให้มีรถวิ่งในระบบ 98 ขบวน รวม 392 ตู้

ทุกอย่างที่ลงทุนก็เพื่อให้เข้ากับเทรนด์ของธุรกิจและการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะว่าวิถีชีวิตของประชาชนไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ รับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เรามั่นใจการให้บริการ การพัฒนาทุกอย่างให้ผู้โดยสารได้ใช้ระบบตั๋วต่าง ๆ ที่จะเป็นสิ่งที่สะดวกให้กับผู้โดยสาร ผมคิดว่าเราทำได้เกิน 80% แล้ว ไม่ใช่ว่าถ่อมตัว แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขยังมีอีกมาก

“20 ปี การเติบโตของบีทีเอสจากวันละ 1 แสนกว่าเที่ยวคน มาวันนี้สูงสุด 1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน การมีเส้นทางต่อขยายไปเรื่อย ๆ ผู้โดยสารน่าจะเกินวันละ 1 ล้านเที่ยวแน่ ๆ และการเปิด 4 สถานีใหม่ของสายสีเขียวต่อขยายจากห้าแยกลาดพร้าวถึงเกษตรศาสตร์ และภายในปีนี้จะเปิดตลอดเส้นทาง คาดว่าน่าจะทำให้ผู้โดยสารเติบโตไม่น้อยกว่า 5% และในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านเที่ยวคนต่อวัน”

ไฮไลต์ปี 2563 ของบีทีเอส นอกจากเปิดบริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคตตลอดเส้นทางในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ยังเป็นปีที่เราเร่งก่อสร้างอย่างต่อเนื่องในส่วนของสายสีชมพูกับสายสีเหลือง ให้เสร็จเปิดให้บริการตามสัญญาในเดือน ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นการก่อสร้างท่ามกลางที่วันนี้เรายังได้พื้นที่ก่อสร้างยังไม่ครบทั้งหมด แต่ก็ปรับแผนและเดินหน้าเต็มที่ให้โครงการสำเร็จลุล่วง

นอกจากนี้ยังรอเซ็นสัญญาระบบค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์อีก 2 สาย เป็นธุรกิจใหม่ที่เราร่วมกับพันธมิตรเข้าร่วมประมูลจนชนะเมื่อปลายปีที่แล้ว และจะเร่งเปิดเดินรถสายสีทอง จะเชื่อมกับบีทีเอสที่สถานีกรุงธนบุรี ไปยังไอคอนสยาม ทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกมากขึ้น

“ปีนี้เราจะมีสิ่งใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้บริการแน่นอน ส่วนการช่วยเรื่องค่าโดยสาร รออนุมัติสัญญาสัมปทานที่จะเซ็นกับกรุงเทพมหานคร จะมีเรื่องค่าโดยสารจะเก็บตามโครงสร้างใหม่ เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว และเก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ผมยังไม่อยากพูดตอนนี้” นายคีรีกล่าวและว่า

จาก experience 20 ปีของเรา ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นในการประมูลงานต่าง ๆ เราเป็นผู้ริเริ่มรถไฟฟ้าสายแรก เรารู้พอสมควร อาจจะมากกว่าคนอื่นที่รู้ แม้แต่ต่างประเทศ อนาคตจากนี้ไปยังเชื่อมั่นว่าเราเป็นบริษัท experience ที่สุด สามารถเดินหน้าประมูลโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

ไม่ว่าจะเป็นวิธีเปิดประมูลรูปแบบ PPP net cost (สัมปทาน) หรือ PPP gross cost (จ้างระยะยาว) เราทำได้หมด นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามั่นใจจะเข้าไปลงทุนระบบรางในหน่วยอื่น ๆ ที่ผ่านมาเราก็เข้าไปประมูลโครงการในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท และเมืองการบินอู่ตะเภาที่รอฟังผลตัดสินมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท

“เราพร้อมประมูลทุกโครงการของรัฐ ส่วนเรื่องแพ้ชนะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ใจเราไม่เคยแพ้” คีรีกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

จากสนามประมูลเมกะโปรเจ็กต์ในอีอีซี “เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส” กล่าวว่า กำลังเตรียมพร้อมจะเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ คาดว่าจะเป็นงานใหญ่แห่งปี 2563

ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 30 ปี ก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ด้วยวงเงินกว่า 122,067 ล้านบาท

วันนี้ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนยังคงเป็นธุรกิจหลักของเรา สร้างรายได้กว่า 80% ยังไงบริษัทจะต้องเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในเส้นทางใหม่ ๆ และผมไม่เคยเหนื่อยเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา