“บอร์ดรถไฟ” ยังไม่อนุมัติผลประมูลรถไฟไทยจีน 3 สัญญา 2.7 หมื่นล้านรอเคาะรวดเดียว 28 ม.ค.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการในตำแห่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ยังไม่เห็นชอบการจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงกรุงเทพ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพ – นครราชสีมา 3 สัญญา รวม 27,501 ล้านบาท

ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ที่มีบริษัท กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,838 ล้านบาท, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ที่มีบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 7,750 ล้านบาท และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,913 ล้านบาท

เนื่องจากที่ประชุมบอร์ดต้องการรับทราบถึงภาพรวมโครงการทั้งหมดก่อน รวมถึงหากเริ่มดำเนินงานในสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) มูลค่าสัญญา 50,633.50 ล้านบาท จะมีการเชื่อมต่อและขั้นตอนการเข้างานหลังจากก่อสร้างงานโยธาอย่างไร ทั้งนี้ ทั้ง 3 สัญญา ไม่ได้มีปัญหาด้านการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใสแต่อย่างใด โดยจะมีการนำเสนออีกครั้งในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปในวันที่ 28 ม.ค.นี้

ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า ทั้ง 3 สัญญาจะนำไปรวมกับอีก 4 สัญญาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบผลการเสนอราคา เพื่อเสนอที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบในการประชุมวันที่ 28 ม.ค.นี้ จึงรวมเป็น 7 สัญญาที่จะเข้าสู่การพิจารณาในครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้บอร์ดจะอนุมัติครบทุกสัญญาแล้ว แต่ทั้งโครงการก็ยังลงนามในสัญญาไม่ได้ เนื่องจากต้องรอการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีการเพิ่มเติมในรายละเอียดก่อน เพราะตอนผ่านการอนุมัติโครงการในครั้งแรก ใช้ผลการศึกษาเดิมของสนข.เป็นโมเดลหลัก ซึ่งได้รับการอนุมัติในเส้นทางช่วงกรุงเทพ – ภาชี และภาชี – นครราชสีมา

แต่ต่อมาโครงการได้ยกระดับเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-จีน จึงมีการปรับปรุงแนวก่อสร้างบางจุดและมีผลต่อรายงาน EIA ฉบับเดิม ร.ฟ.ท.จึงต้องทำรายงาน EIA เพิ่มเติมและเสนอตามกระบวนการ โดยจุดที่ต้องทำ EIA เพิ่มเติมอยู่กระจายไปตามแนวเส้นทางทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) คาดว่าจะผ่านการพิจารณาได้ประมาณเดือน ก.พ.นี้

นอกจากนี้ ในส่วนงานสัญญาที่ 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,093.037 ล้านบาท กระบวนการกำหนดราคากลางเสร็จแล้ว จะมีการประชุมคณะกรรมการทีโออาร์ในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดวันประกาศเจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซด์ร.ฟ.ท.ต่อไป