มุดใต้ดินไซต์ “อิตาเลียนไทย” ส่องอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี

เมื่อวันที่16 มกราคม 2563 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ ด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

พร้อมด้วยนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รฟม. ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้างานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน อุโมงค์ที่ 1 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สัญญา ที่ 3 และร่วมบันทึกภาพความสำเร็จของงานขุดเจาะอุโมงค์ที่เจาะทะลุ (Breakthrough) เข้าสถานีหัวหมากอย่างเป็นทางการซึ่งดำเนินการ

โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า ณ สถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ สถานีหัวหมาก ถนนรามคำแหง

ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ส่วนที่ 1 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า ซึ่งเป็นอุโมงค์แรกที่อยู่ในถนนรามคำแหง ฝั่งขาเข้าเมือง เริ่มขุดเจาะอุโมงค์ตั้งแต่สถานีคลองบ้านม้า ผ่านแยกบ้านม้า แยกลำสาลี เข้าสู่สถานีหัวหมาก โดยอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ที่ระดับความลึก 15-25 เมตรจากผิวดิน และมีความยาวทั้งสิ้น 3,330 เมตร

โดยได้เริ่มงานขุดเจาะที่สถานีคลองบ้านม้าเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 และถึงสถานีหัวหมาก (จุดสิ้นสุดการขุดเจาะของอุโมงค์แรก) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาในการขุดเจาะทั้งสิ้น 11 เดือน สำหรับการขุดเจาะอุโมงค์ทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฯ ได้นำเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงระบบสนับสนุนการเจาะต่าง ๆ ที่เป็นนวัตกรรมล่าสุดในการขุดเจาะอุโมงค์มาใช้งาน

โดยหัวเจาะอุโมงค์ได้ถูกออกแบบและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้สำหรับการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ จึงทำให้การขุดเจาะอุโมงค์นี้สามารถขุดเจาะได้ถึง 33.60 เมตร/วัน และ 190.40 เมตร/สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติความเร็วในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าในชั้นดินเหนียวอ่อนลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคนี้

ปัจจุบันสายสีส้มมีความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 คิดเป็นร้อยละ 53.31

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบการเดินทางที่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างยั่งยืนต่อไป