“ถาวร” ดูความพร้อมสนามบินนราธิวาสรับ ครม.สัญจรอัด800ล้านขยายอาคารหลังใหม่

วันที่ 20 มกราคม 2563 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแผนพัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาส จ.นราธิวาส โดยมีนายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน พร้อมคณะผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน ให้การต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานนราธิวาส จ.นราธิวาส

โดยการลงพื้นที่ตรวจติดตามการเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในครั้งนี้นายถาวรได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมภายในอาคารที่พักผู้โดยสารและบริเวณด้านนอกอาคาร การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นายกรัฐมนตรีและคณะในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 1/2563 ณ จ.นราธิวาส

พร้อมได้รับฟังการบรรยายสรุป แผนพัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาส ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ที่ได้รับจัดสรรงบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2563-2565 ภายใต้งบประมาณ 800 ล้านบาท โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ใช้สอย 12,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 600 คน/ชม. หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อรองรับผู้แสวงบุญช่วงที่จะไปร่วมพิธิฮัจญ์

ในการนี้นายถาวรได้กล่าวเสริมว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีเที่ยวบินโดยรวมทั้งภายในประเทศและเที่ยวบินต่างประเทศประมาณ 937,700 เที่ยวบิน/ปี (ข้อมูลจาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด) และอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการบริการทางการบินติดอันดับ 10 ของโลก เพราะมีภูมิประเทศเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่งทางอากาศ

ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ท่าอากาศยานบริหารงานภายใต้ นโยบาย “เชื่อมไทย – เชื่อมโลก” เพื่อสอดรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยมีท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์กลาง เชื่อมการเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

รวมถึงให้ความสำคัญการออกแบบก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารโดยเน้นการออกแบบให้เป็นทวิอัตลักษณ์ คือการผสมผสานสถาปัตยกรรมพื้นเมืองกับสมัยใหม่ให้กลมกลืนกัน ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของ ICAO, EASA และ IATAS ทั้งนี้ต้องคำนึงและให้ความสำคัญในการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เช่น มีทางลาดทางเชื่อม ลิฟต์ และห้องน้ำสำหรับผู้พิการให้เพียงพอ

การจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นควบคู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ การส่งเสริมพื้นที่ในการจัดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร เช่น ผลไม้ตามฤดู การร่วมมือการสายการบินในการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถโหลดผลไม้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับกับธุรกิจในรูปแบบต่างๆ สนับสนุนและผลักดันให้ท่าอากาศยานทุกแห่งของกรมท่าอากาศยานเป็น Smart Airport โดยจะเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานกระบี่ให้เป็นท่าอากาศยานต้นแบบ


โดยมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรม สายการบิน วิสาหกิจชุมชน ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเกิดความประทับใจในการใช้บริการ ณ ท่าอากาศยาน โดย รชค. กำชับให้กรมท่าอากาศยานเร่งดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาของท่าอากาศยานให้ดำเนินการเป็นไปตามแผนการที่วางไว้