“ศักดิ์สยาม” เขย่าเส้นทาง-แผนซื้อรถ-ลดคน ปิดมหากาพย์ “ขสมก.” หนี้ท่วมแสนล้าน

ยังไม่รู้จะถึงฝั่งฝันหรือไม่ “แผนฟื้นฟู ขสมก.” ล้างหนี้ 110,199 ล้านบาท เวอร์ชั่นใหม่ในมือพรรคภูมิใจไทย มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เป็นผู้กำกับ ในยกแรกถูก “สหภาพ” ฮือต้านล้มแผน workshop จน “บิ๊กคมนาคม” ควันออกหู สั่ง “บิ๊ก ขสมก.” เพิ่งคัมแบ็กได้ไม่นานเคลียร์ใจกับสหภาพให้เรียบร้อย จนนำมาสู่บรรยากาศราบรื่น แต่จะไปได้ตลอดรอดฝั่งไหมยังต้องลุ้น เพราะการพลิกฟื้น ขสมก.พูดมานาน และผ่านมือรัฐบาลมาหลายยุคสมัย แต่สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ

รื้อแผนซื้อรถเมล์-เส้นทางวิ่ง

“สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า ทำความเข้าใจกับสหภาพแล้วและยืนยันทบทวนแผนฟื้นฟูแก้แค่ 2 ประเด็น ที่เหลือยังยึดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งสิ่งที่ปรับ 1.เปลี่ยนจัดหารถเมล์ 2,511 คัน จากซื้อและปรับปรุงรถเมล์เดิม เป็นเช่าจากเอกชน จะเป็นรถปรับอากาศใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น NGV, hybrid และ EV เพื่อลดต้นทุนการบริหาร จากกม.ละ 50 บาท เหลือ 39 บาท/กม. เพราะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย โดย ขสมก.จะเป็นผู้บริหารจัดการเอง จะประมูลแบบ e-Bidding รอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตรวจสอบต้องเข้าพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 หรือไม่

2.ปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำกับดูแล จาก 269 เส้นทาง เหลือ 104 เส้นทาง ใน 4 รูปแบบ คือ วิ่งสายหลัก สายรอง วิ่งวนเป็นวงกลม และขึ้นทางด่วน หลังพบปัญหารถเมล์วิ่งทับซ้อนกันมาก เช่น ถ.พหลโยธิน ช่วงหมอชิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ ทับซ้อน 30 เส้นทาง, ถ.รามคำแหง ช่วงหน้า ม.รามคำแหง 27 เส้นทาง ถ.บรมราชชนนี ช่วงสะพานปิ่นเกล้า-แยกปิ่นเกล้า ทับซ้อน 27 เส้นทาง

ออกตั๋ว 30 บาท นั่งได้ทั้งวัน

นอกจากนี้จากการศึกษาพฤติกรรมผู้โดยสารพบว่า นิยมนั่งรถต่อเดียวจากต้นทางถึงสุดสาย 50-60 กม. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทางนายศักดิ์สยามจึงมีนโยบายเรื่องค่าโดยสาร 30 บาท นั่งได้ทุกสายทั้งวัน ลดปัญหาจราจรและความทับซ้อนเส้นทางรถเมล์ ทำให้อัตราค่าโดยสารถูกลง เช่น รถร้อน (ครีมแดง) เดิม 8 บาท/คน/เที่ยว ไป-กลับ 16 บาท/คน/เที่ยว เก็บ 30 บาท/คน/วัน เพิ่มขึ้น 14 บาท/คน/วัน, รถแอร์เก่า เดิม 13-25 บาท/คน/เที่ยว ไป-กลับ 50 บาท/คน/วัน เก็บ 30 บาท/คน/วัน จะถูกลง 20 บาท/คน/วัน และรถแอร์ NGV ใหม่ 489 คัน เดิม 15-20-25 บาท/คน/เที่ยว ไป-กลับ 50 บาท/คน/วัน เก็บ 30 บาท/คน/วัน จะถูกลง 20 บาท/คน/วัน จะนำค่าโดยสารจ่ายค่าเช่ารถเมล์ใหม่ ซึ่งรถร่วมเอกชนสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้

ไม่ลดคนขับ-โละกระเป๋า

ขณะเดียวกันจะปรับโครงสร้างองค์กร ในส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานประจำสำนักงาน ไม่มีพนักงานขับรถ เพราะ ขสมก.ประสบภาวะขาดแคลนพนักงานขับรถ จากเป้า 6,300 คน แต่ปัจจุบันมี 5,580 คน ต้องจ้างเอาต์ซอร์ซและพนักงานที่เกษียณมาเสริม

“ลดพนักงานทั้งหมดให้เหลือ 8,259 คน เป็นพนักงานเฉลี่ย 2.75/รถเมล์ 1 คัน จากปัจจุบัน 13,632 คน เป็นพนักงานเฉลี่ย 4.54 คน/รถเมล์ 1 คัน จะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารจากเดิม 5,781 คน รวมถึงลดพนักงานประจำสำนักงานเหลือ 1,959 คน จาก 2,271 คน”

เช่นเดียวกับแผนเกษียณอายุก่อนกำหนด จะไม่มีเออร์ลี่พนักงานขับรถ จะเป็นพนักงานสนับสนุนและเก็บค่าโดยสาร 5,051 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6,004 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.189 ล้านบาท/พนักงาน 1 คน ตั้งเป้าพนักงานสนับสนุน 655 คน ค่าใช้จ่าย 1,036 ล้านบาท และเก็บค่าโดยสาร 4,396 คน ค่าใช้จ่าย 4,968 ล้านบาท

สำหรับภาระหนี้สะสม 110,199.199 ล้านบาท “สุระชัย” กล่าวว่า จะขอให้รัฐรับหนี้ก้อนนี้ไปก่อน เพราะ ขสมก.ยังหาเงินมาชำระไม่ได้ แบ่งเป็นหนี้จัดหารถเมล์ 6,459.032 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิง 45,443.276 ล้านบาท ค่าเหมาซ่อม 29,164.347 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้ 24,826.212 ล้านบาท และหนี้เสริมสภาพคล่อง 4,306.332 ล้านบาท


ส่วนหนี้ใหม่จะไม่มี เพราะไม่ต้องแบกต้นทุนซ่อมบำรุง 20,000 ล้านบาท/ปีรัฐประหยัดได้ 11,210.343 ล้านบาท จะมีเฉพาะค่าอุดหนุนจากรัฐ (PSO) 5 ปี 10,000 ล้านบาท และเงินเออร์ลี่ 6,004 ล้านบาท และมี EBITDA เป็นบวกใน 10 ปี คาดว่าก.พ.นี้แผนทั้งหมดจะได้รับอนุม้ติ รอเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด.) ก่อนเสนอครม.ทบทวนมติเดิมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อนุมัติถึงจะเริ่มเช่ารถเมล์ใหม่ จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง