ช.การช่าง ผนึกพันธมิตร พลิกโฉมใหญ่ Metro Mall MRT

สัมภาษณ์

เริ่มดีวันดีคืนค้าปลีกใต้ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แบรนด์ “Metro Mall” ของ “BMN-บจ.แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์” ธุรกิจในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง

กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องปรับตัวแทบจะ 360 องศาตลอด14 ปีที่ผ่านมา นับจากเปิด “สถานีสุขุมวิท” เป็นแห่งแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2548 ถึงปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 8 สถานี

ในเมื่อลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน หากผู้โดยสารมาก ย่อมหมายความว่าคนจะมาใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีมากด้วยเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “โจ้-ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์” ลูกชายคนเล็กของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ที่วันนี้ได้รับความไว้วางใจให้นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BMN กับภารกิจสร้างสรรค์พื้นที่ค้าปลีก “Metro Mall” ทุกสถานีไปสู่ “The Happy Hub of MRT” ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองและคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล

Q : การลงทุนในปี 2563

ที่ผ่านมาเราเริ่มทยอยรีโนเวตพื้นที่ Metro Mall เช่น สถานีจตุจักร ปีนี้จะมีรีโนเวตสถานีพหลโยธิน พื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท จริง ๆ เริ่มตั้งแต่สิ้นปี 2562 แล้ว แต่มีการปรับปรุงแบบนิดหน่อย มีการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้จะเริ่มงานจริง ๆ ประมาณไตรมาสที่ 1 นี้ และจะไปเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

สำหรับโฉมใหม่จะทำให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้โดยสารสถานีพหลโยธินให้ได้มากยิ่งขึ้น ก็มีการสอบถามผู้โดยสารแล้วเหมือนกันว่า อยากได้ร้านค้าแบบไหน ต้องการทำกิจกรรมอะไร เราจะเลือกร้านค้าและกิจกรรมที่เหมาะสม แต่ต้องมีห้องน้ำที่สะอาด มีที่พักคอย และฟรี WiFi จะเหมือนกันกับ Metro Mall สถานีอื่น ๆ

และคล้ายกับสถานีสวนจตุจักรจะมีส่วนของที่พักคอย ฟรี WiFi และ rest area และมีร้านค้า เช่น ร้านกาแฟและร้านอาหาร จะต่างกัน คือ พหลโยธิน จะมีพื้นที่พักผ่อนมากขึ้น และพื้นที่ coworking space

จากก่อนหน้านี้จะมีโรงเรียนกวดวิชา ตอนนี้เราปรับใหม่ทำเป็นพื้นที่รีเทลหมดแล้ว กำลังคุยกับพันธมิตรต่าง ๆ ตอนนี้เรามี Star Buck, Lawson 108, Amazon, Ochaya อยู่ระหว่างคุยกับเชนอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็คงมีเพิ่มเติมเข้ามาเปิดอีก เพราะเมื่อเรารีโนเวตแล้วก็น่าจะตอบโจทย์เชนต่าง ๆ ได้มากขึ้น

Q : มีสถานีอื่นอีกไหม

หลัก ๆ น่าจะมีที่พหลโยธิน ส่วนที่อื่นน่าจะเป็นการเปิดช็อปเพิ่มเติม จะนำร้านซาลาเปาวราภรณ์เป็นพาร์ตเนอร์ใหม่มาร่วมกับเรา ก็คงศึกษาเพิ่มเติมว่ามีที่อื่นที่ไปได้ไหม เช่น After you ก็จะมาด้วยเหมือนกัน กำลังศึกษาอยู่ว่ามีสถานีอื่น ๆ อีกไหมที่ After you สนใจ

ปัจจุบันจากได้สิทธิ์บริหารพื้นที่กว่า 22,000 ตารางเมตร ของ 11 สถานีในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เราเปิดแล้ว 8 สถานี ยังเหลือสถานีลาดพร้าว รัชดาภิเษก และศูนย์สิริกิติ์ ขอดูตัวเลขผู้โดยสารก่อนว่า หลังเปิดบริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจนครบทั้งโครงข่าย จำนวน 38 สถานีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 แสนเที่ยวคนต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30%

Q : การร่วมกับ Gourmet Market

กำลังศึกษาต่อเหมือนกันว่า เขามีโมเดลธุรกิจอื่น ๆ ไหม เพราะเขาเองก็เพิ่งเปิดสาขาใหม่ 2 แห่ง ที่โครงการไอแอมไชน่าเยาวราช และที่ DESIGN VILLAGE พุทธมณฑลสาย 2 เขาก็คงดูแผนธุรกิจอยู่ว่า สำหรับ MRT เขาจะต่อยอดอย่างไรต่อไป

Q : แผนเปิดรีเทลสถานีต่อขยายใหม่

รอให้ปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการนิ่งก่อน แล้วถึงค่อยดูพฤติกรรมผู้โดยสารว่าเขาเดินทางกันยังไง ในส่วนต่อขยาย มีพื้นที่พัฒนา Metro Mall ไม่กี่สถานี มีสถานีอิสรภาพ แล้วที่เหลือจะเป็นคีออสก์ มีพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เป็นช็อปถาวร แต่เป็นกิจกรรมหมุนเวียน จะทำได้เลย แต่ถ้าเป็นช็อป อยากดูพฤติกรรมของผู้โดยสารก่อนว่า ต้องการอะไร คนที่ใช้ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ไม่งั้นจะไม่ค่อยคุ้มที่จะมาเปิดแบบถาวรเท่าไหร่

ตอนนี้สถานีที่คนใช้บริการมากที่สุด ยังอยู่ที่สุขุมวิทประมาณ 90,000 เที่ยวคนต่อวัน เพราะเชื่อมกับบีทีเอสสถานีอโศก รองลงมาเป็นสถานีพระราม 9 ประมาณ 50,000 เที่ยวคนต่อวัน เพชรบุรี สวนจตุจักร และสีลม ซึ่งสถานีเพชรบุรีที่เชื่อมกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ก็โตเร็วแซงกันไปแซงกันมากับพระราม 9 ระหว่างที่ 2 ที่ 3 ส่วนศูนย์วัฒนธรรมแข่งกับสถานีสีลม ซึ่งเมื่อสายสีน้ำเงินเปิดครบลูปจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเริ่มเปลี่ยน จากการมีสถานีใหม่ ๆ เกิดขึ้น อาจจะทำให้พฤติกรรมผู้โดยสารเริ่มเปลี่ยนไป

Q : สายสีเขียวเปิดถึง ม.เกษตรกระทบต่อสถานีไหนบ้าง

มีสวนจตุจักรและพหลโยธิน เพราะเป็นสถานีเชื่อม ซึ่งคนไม่ได้ลดนะ เพราะมี network เพิ่มเติมมากขึ้น เพียงแต่ลำดับผู้โดยสารที่เคยสูงสุดของแต่ละสถานี อาจจะเปลี่ยน เช่น MRT ตอนเปิดวันแรก สถานีพหลโยธินติด Top 5 เพราะมีเซ็นทรัลลาดพร้าว ตอนหลังสถานีอื่นก็แซงขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่า พหลโยธินคนน้อยลงนะ คนก็เยอะเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าสถานีอื่นโตเร็วกว่าเพราะคนมาใช้มากขึ้น

Q : สถานีเตาปูนจุดเชื่อมกับสายสีน้ำเงินกับสีม่วงจะพัฒนาอะไร

สถานีเตาปูนตอนนี้เน้นขายพื้นที่สื่อโฆษณามากกว่า เพราะว่าอยู่ในจุดที่ถ้าทำสื่อน่าจะเหมาะกว่าพื้นที่รีเทล

Q : รายได้ของ BMN

ภาพรวมโตกว่าปี 2561 ประมาณ 15% แต่ยังไม่ถึง 1,000 ล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท โตขึ้นทั้งจาก Metro Mall และสื่อโฆษณาใหม่ ๆ ที่เราทำขึ้นมา

Q : ธุรกิจพูดถึงดิสรัปชั่นกันเยอะเตรียมรับมืออย่างไร

ระวังตัวเหมือนกัน อย่างเรื่องที่คนมีพฤติกรรมเสพสื่อเปลี่ยนไป เรายังโชคดีที่การเดินทางยังจำเป็นต่อชีวิตคน ยังไม่ถูกดิสรัปต์ คนยังต้องเดินทาง ยังไม่มีใครทำงานที่บ้าน ส่วนใหญ่ยังต้องออกมาทำงาน เพราะฉะนั้น เรื่องสื่อโฆษณาคนก็ยังต้องเห็น เพราะไม่ใช่พอดิสรัปต์แล้วคนไม่นั่งรถไฟฟ้าเลย คงไม่ใช่ แล้วเรื่องอาหารการกินก็ยังเป็นปัจจัย 4 คนยังต้องหาอะไรทาน ฉะนั้น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร จึงไม่ถูกดิสรัปต์เท่าไหร่ สินค้าแฟชั่นจะถูกดิสรัปต์ได้ง่าย เพราะคนซื้อของออนไลน์หรือจะสั่งซื้ออาหารตอนนี้ก็มี Grab Get เข้ามา ดูอยู่ว่ากระทบยอดขายไหม แต่ส่วนมากจะเพิ่มยอดขายนะ เพราะ Grab Get เขาก็มาซื้อใน Metro Mall (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ยังไม่ได้โดนดิสรัปต์ ทั้งพื้นที่สื่อ ร้านค้า

Q : รูปแบบสื่อโฆษณาใหม่ ๆ เหมือนสถานีวัดมังกร

มี The Landmark ที่สุขุมวิท คนคิดว่าเรามีแต่ข้างในสถานี ไม่มีข้างนอก จริง ๆ แล้วมี on ground ด้วย เช่น ปล่องระบายอากาศ ทางเข้าสถานีอยู่จุดยุทธศาสตร์ของ กทม.เลย แถวแยกอโศก-สุขุมวิท, สีลม แยกพระราม 9 ที่เพิ่งออกสื่อใหม่ชื่อ The Landmark at Sukhumvit โดยแรปปล่องระบายอากาศ ตกแต่งตรงทางเข้าสถานี เช่น ลิฟต์ เป็นธีมเดียวกัน กำลังศึกษาเพิ่มเติมอยู่

จะมีกล่องไฟไดนามิก เราผลิตเอง เป็นกล่องไฟโดยใช้ลูกเล่นของแสง ทำให้กล่องไฟปรับเปลี่ยนแสงได้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ เหมาะกับพื้นที่ปิดแบบ MRT เพราะต้องควบคุมแสง ถ้ามีแสงเข้า ทำให้ไม่ค่อยสวย จะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้เสพสื่อในปีนี้ ยังคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ไดนามิกเอ็กซ์ และเวลคัมไดนามิก เป็นสื่อชนิดใหม่ และน่าจะได้เห็นปลายไตรมาส 1 นี้ ที่สถานีสุขุมวิทก่อน เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว รอลูกค้าซื้อไอเดียเมื่อไหร่ก็เริ่มทันที