“คมนาคม” จี้ ทอท.เร่งขยาย “สนามบินเชียงใหม่” ดึงฝรั่งเศสศึกษาพัฒนาเมืองภูเก็ต

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศระยะที่ 1 (2561 – 2565) ของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

โดยคำนึงถึงการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และสามารถแก้ไขความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารและรอบท่าอากาศยาน รวมทั้งมีขีดความสามารถเพียงพอต่อการรองรับการใช้งาน โดยมีเป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคน/ปี

สำหรับแผนงานในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม 2. การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 3.การเพิ่มพื้นที่จอดรถ 4.การขยายลานจอดอากาศยาน และ 5. การปรับปรุงระบบถนน เป็นต้น ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี แต่มีผู้โดยสารเดินทางใช้บริการจริงกว่า 11 ล้านคน/ปี

นอกจากนี้ ได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 โดยให้เร่งดำเนินการเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นและบรรเทาความแออัดของผู้โดยสาร ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน/ปี ในปี 2573

“ในระยะต่อไป ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 จะต้องเป็นสนามบินหลักแทน เพราะท่าอากาศยานเดิมอยู่ในเขตเมือง มีข้อจำกัดด้านการพัฒนาและหลังเที่ยงคืนไม่สามารถทำการบินได้ เนื่องจากจะรบกวนประชาชนที่อยู่อาศัยในละแวกท่าอากาศยาน บวกกับเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติที่จะให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 เป็นท่าอากาศยานหลักของภาคเหนือ และต้องรองรับประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงให้ ทอท.นำแผนงานมารีวิวให้ที่ประชุมรับทราบ แต่ส่วนตัวมองว่า แผนที่นำเสนอยังเน้นไปที่การพัฒนาท่าอากาศยานเดิมมากเกินไป จึงให้เริ่มวางแผนทำท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ได้แล้ว” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว

ส่วนการหารือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) เรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต ที่มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ เป็นหารือกันถึงเรื่องการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นการต่อยอดหลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดกันว่าน่าจะทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองมากขึ้น และทำให้มีผู้คนเดินทางเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเมืองขยายก็จะกระทบกับวิถีชีวิตเดิม

จึงได้ร่วมมือกันกับ AFD ศึกษาแผนพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนา TOD ด้วย แต่จะเป็นแบบเล็กๆ สาเหตุที่เลือกฝรั่งเศส เพราะทาง AFD ก็มีความสนใจทางด้านนี้อยู่แล้ว มีระยะเวลาศึกษา 8 เดือน (ก.พ.-ต.ค. 2563) ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะทาง AFD เป็นผู้ออกให้