เปิดโพย “ที่จอดรถ” 2.7 หมื่นคัน จูงใจทิ้งรถส่วนตัวนั่งรถไฟฟ้า

การจัดพื้นที่จอดแล้วจร หรือ park & ride ในแนวรถไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม

เพื่อเป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น หากสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาหลายอย่าง ทั้งแก้ปัญหารถติดในเมืองกรุง ลดมลพิษ และฝุ่น PM 2.5

ย้อนไปเมื่อปี 2559 หลัง “รัฐบาล คสช.” มี “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารงานได้ไม่นาน มีไอเดียให้สร้างที่จอดรถเพิ่ม โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

“มีแนวคิดจะทำอย่างไรให้ลดปัญหาการจราจรได้ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้หาความเชื่อมโยงต่อระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรอยต่อของแต่ละช่วงจะต้องมีที่จอดรถ จึงให้แนวทางกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปหารือกับเอกชน ร่วมมือลงทุนสร้างที่จอดรถในเมือง เป็นตึกสูงประมาณ 10 ชั้น จากนั้นก็บริหารจัดการ เก็บค่าเช่า
จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาการจราจรดีขึ้น” เป็นข้อสั่งการของ “บิ๊กตู่” เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุดเรื่องที่จอดรถถูกหยิบนำมาเป็นหัวข้อการหารือในวงประชุมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ได้บรรจุมาตรการจัดพื้นที่จอดแล้วจรไว้เป็นหนึ่งในแผนระยะกลาง (2565-2569) ที่จะมาแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วในอนาคต

ในข้อมูลของ “สนข.” ฉายภาพถึงพื้นที่จอดแล้วจรแนวรถไฟฟ้าในแผนแม่บท 12 สายทาง อยู่ในความรับผิดชอบของ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” และ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” รวมทั้งหมด 27,025 คัน

แบ่งเป็นรถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จ มีที่จอดรถ จำนวน 6,420 คัน ได้แก่ สายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 5,520 คัน มีสถานีนนทบุรี 1 จำนวน 1,100 คัน สถานีท่าอิฐ 1,070 คัน สถานีแยกบางใหญ่ 1,450 คัน และสถานีคลองบางไผ่ 1,900 คัน และสายแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 900 คัน มีสถานีบ้านทับช้าง 50 คัน สถานีลาดกระบัง 500 คัน และสถานีหัวหมาก 350 คัน

อยู่ในแผนและอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 9,955 คัน สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีหลักสอง 1,000 คัน สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่
สถานี กม.25 จำนวน 1,042 คัน สถานีคูคต 713 คัน สายสีส้มที่สถานีคลองบ้านม้า 1,200 คัน สถานีมีนบุรี 3,000 คัน สายสีเหลืองที่สถานีศรีเอี่ยม 3,000 คัน

อยู่ในแผนแต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง จำนวน 3,400 คัน อยู่ในสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่สถานีบางปะกอก 1,700 คัน และสถานีราษฎร์บูรณะ 1,700 คัน

ขณะเดียวกัน “สนข.” ได้กำหนดพื้นที่เสนอแนะให้สร้างเพิ่มเติม จำนวน 7,250 คัน แยกเป็นในแนวสายสีแดงช่วงบางซื่อ- รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่รังสิต 4,000 คัน กาญจนาภิเษก 500 คัน ตลิ่งชัน 500 คัน

แนวแอร์พอร์ตลิงก์ที่ลาดกระบัง 500 คัน และบ้านทับช้าง 50 คัน สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ที่วัชรพล 1,000 คัน แคราย 50 คัน สายสีเขียวที่ตลาดพลู 150 คัน สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่บางหว้า 500 คัน

นอกจากแผนงานของ “สนข.” แล้ว ในส่วนของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่กำลังจะบังคับใช้ ได้เพิ่มมาตรการลดจำนวนที่จอดรถ 25% ในโครงการคอนโดมิเนียมทำเลใจกลางเมืองใกล้รถไฟฟ้า

ในทางกลับกัน จะส่งเสริมทำเลชานเมืองที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่เชื่อม ให้พัฒนาพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้น โดยแลกกับได้รับโบนัส FAR (สัดส่วนพื้นที่อาคารต่อขนาดที่ดิน) เพิ่มขึ้นไม่เกิน 20%

มี 22 สถานี ได้แก่ สถานี กม.25, ดอนเมือง, หลักสี่, วัชรพล, มีนบุรี, บางซื่อ, ลาดพร้าว, หมอชิต, บางบำหรุ, ตลิ่งชัน, ศูนย์วัฒนธรรมฯ, บางกะปิ, มักกะสัน, หัวหมาก, ลาดกระบัง, ศูนย์สิริกิติ์, สะพานตากสิน, หลักสอง, ศรีเอี่ยม, สะพานพระราม 9, ราษฎร์บูรณะ, รางโพธิ์

หวังดึงคนชานเมืองหันมาใช้รถไฟฟ้าเข้าเมืองมากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่สิ่งที่คิดจะเป็นจริงได้แค่ไหน ก็ต้องติดตามกันต่อไป