รฟม.เปิดสัมปทาน 3 แสนล้าน สร้าง 5 รถไฟฟ้าหัวเมืองหลัก

สัมภาษณ์

ปี 2020 นับเป็นอีกปีที่ท้าทายของ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ต้องสปีดการลงทุนรถไฟฟ้าให้กรุงเทพฯและหัวเมืองหลัก 5 สายทาง มูลค่า 339,414 ล้านบาท เครื่องยนต์กระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เปิดประมูลได้ตามเป้า หลังโครงการช้าจากแผนร่วมปี

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยภารกิจของปีนี้ว่า เรื่องแรกจะผลักดัน ระบบตั๋วร่วมให้ใช้ข้ามระบบได้ทั้งสายสีน้ำเงิน สีม่วง บีทีเอสและแอร์พอร์ตลิงก์ ในเดือน มิ.ย.นี้ ได้หารือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) พร้อมจะปรับปรุงระบบให้อ่านบัตรโดยสารของแต่ละระบบได้

“BTS และ BEM จะต้องอัพเกรดระบบให้อ่านบัตรของแต่ละราย อาจจะถือโอกาสอัพเกรดให้รับกับระบบ EMV เช่น บีทีเอสจะต้องอัพเกรดให้รับได้ทั้งบัตรแมงมุมและ MRT ส่วน BEM ต้องอัพเกรดให้รับบัตรแรบบิทได้ ขณะที่ค่าโดยสารยังต้องเสียตามอัตราของแต่ละระบบ ต้องรอในระยะต่อไป ตอนนี้เอาแค่ข้ามระบบให้ได้ก่อน รวมถึงจะร่วมกับธนาคารกรุงไทยเพื่อบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้เป็น EMV ด้วย”

นอกจากนี้จะเร่งเปิดประมูลรถไฟฟ้า 3 สายทางที่ยังช้า ให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนของรัฐบาล ซึ่ง รฟม.ได้ขอกระทรวงการคลังปรับเป้ากรอบลงทุนลง 2 หมื่นล้านบาท หลังติดเวนคืนยังไม่มีการออก พ.ร.ฎ.เวนคืน และเบิกจ่ายงบฯก่อสร้างในช่วงเริ่มงานระยะแรก ประกอบด้วย สายสีส้มตะวันตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะเปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปี 1 สัญญา มูลค่า 142,789 ล้านบาท หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.จะประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 พิจารณาร่างทีโออาร์ คาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้จะเปิดประมูลได้ในรูปแบบนานาชาติ

“รัฐจะลงทุนค่าเวนคืน 14,661 ล้านบาท เอกชนจะลงทุน 128,128 ล้านบาท งานโยธาช่วงตะวันตก จัดหาระบบ ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถตลอดสายจากบางขุนนนท์-มีนบุรี 35.9 กม. รัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากเปิดบริการ หากเอกชนรายไหนให้รัฐอุดหนุนน้อยและจ่ายผลตอบแทนให้รัฐสูงจะเป็นผู้ชนะประมูล”

หากสายสีส้มได้เอกชนผู้ชนะประมูลแล้ว จะเร่งรัดงานระบบก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อเปิดให้บริการช่วงตะวันออกศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่งานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 50% ให้เปิดบริการก่อนในปี 2567 และเปิดบริการตลอดสายในปี 2569

ส่วนความคืบหน้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 124,959 ล้านบาท “ภคพงศ์” กล่าวว่า รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ด้านการเดินรถจะขออนุมัติในปีนี้ ให้เอกชนลงทุน PPP gross cost เหมือนสายสีม่วงเพื่อให้เดินรถต่อเนื่องโดยเอกชนรายเดียว ถ้าปีนี้สีส้มกับสีม่วงใต้เปิดประมูล ในปีหน้าจะเริ่มการเวนคืนที่ดินได้

“สายสีม่วงใต้ ครม.อนุมัติแล้ววันที่ 9 ส.ค. 2560 จะประมูลงานโยธาภายในปีนี้ แบ่ง 6 สัญญา วงเงิน 77,385 ล้านบาท มีงานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญาจะเริ่มก่อสร้างปี 2564 เปิดปี 2569”

อีกโครงการเป็นรถไฟฟ้า จ.ภูเก็ต ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงิน 35,295 ล้านบาท บอร์ด รฟม.ให้ทบทวนเป้าผู้โดยสารที่ประเมินไว้ 39,000 เที่ยวคนต่อวัน อาจจะสูงเกินไป เพราะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการแค่ 20% อาจจะไม่จูงใจเอกชนร่วมลงทุน PPP หากโครงการใช้เงินลงทุนสูง

“โครงการอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รูปแบบการลงทุนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ด PPP คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการในปีนี้”

จากนั้นเป็นคิวของ รถไฟฟ้า จ.เชียงใหม่ สายสีแดงจากโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงิน 27,890 ล้านบาท และรถไฟฟ้า จ.นครราชสีมา มูลค่า 8,481 ล้านบาท จะขออนุมัติโครงการภายในปีนี้

และจะเร่งสร้างฐานราก รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี 22 กม. เงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ได้จ้างออกแบบแล้ว เมื่อแบบเสร็จแล้วจะส่งแบบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดประมูลเพราะใช้โครงสร้างร่วมกับทางด่วนขั้นที่ 2 สายเหนือ ซึ่งโครงการนี้จะลงทุนรูปแบบ PPP

สุดท้าย รฟม.ยังได้เซ็นบันทึกข้อตกลง กับการเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางในแนวรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าจะนำร่องที่สถานีคลองบางไผ่ของสายสีม่วง