เร็วทันใจ! รฟม.ตั้งบอร์ดคัดเลือกลุย PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดขาย TOR เม.ย. ยื่นซองก.ค.นี้

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันที่ 12 ก.พ. 2563 ที่ประชุมบอร์ด รฟม.ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 มีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่า รฟม. ด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง เป็นประธาน

เพื่อดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และเดินรถตลอดสายบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้คณะกรรมการมาตรา 36 จะเริ่มประชุม

“ปรับแผนการประมูลของสายสีส้มให้เร็วขึ้นอีก 3 เดือน เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการนำมากระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าจะเซ็นสัญญาโครงการได้ภายในเดือน พ.ย.นี้”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในเดือน เม.ย.จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วม PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเปิดประมูลแบบนานาชาติ จำนวน 1 สัญญา จากนั้นให้เอกชนยืนข้อเสนอในเดือน ก.ค. และเจรจาเอกชนที่ชนะประมูลและเสนอให้ ครม.อนุม้ติภายในเดือน พ.ย. และเซ็นสัญญาภายในปี 2563 นี้ ส่วนการเวนคืนที่ดินอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเพื่อเสนอ ครม.อนุม้ติ

“ปรับแผนประมูลให้เร็วขึ้น 3 เดือน อย่างที่ทราบว่าสภาพเศรษฐกิจในประเทศไม่ค่อยดี รวมถึงปัญหาไวรัสโคโรน่า และการท่องเที่ยวที่ซบเซา รัฐบาลจึงต้องการจะหาโครงการลงทุนขนาดใหญ่มากระตุ้นหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศ”

นายภคพงศ์กล่าวว่า หลังได้เอกชนผู้ลงทุนแล้ว จะให้เวลาดำเนินการออกแบบ 4 เดือน ถ้าเซ็นสัญญาภายในปีนี้ คาดว่าเริ่มก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2564 ทั้งนี้เนื่องจากงานก่อสร้างสายสีส้มช่วงตะวันออกมีความคืบหน้าแล้วกว่า 51% หลังเซ็นสัญญากับเอกชนแล้วจะให้เร่งงานระบบในทันที เนื่องจากขบวนรถจะต้องใช้เวลาผลิต 2 ปี

“เป้าเปิดบริการอาจจะมีขยับไปบ้าง จากความล่าช้าของการคัดเลือกเอกชนมาลงทุน โดยช่วงตะวันออกศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะเปิดบริการในปี 2567 และช่วงตะว้นตกจะเปิดบริการในปี 2570 มีผู้โดยสารตลอดทั้งสายอยู่ที่ 5 แสนเที่ยวคน/วัน”

สำหรับระยะเวลาก่อสร้างถึงจะเป็นเอกชนรายเดียวที่เป็นผู้ลงทุน ก็สามารถจะแบ่งงานก่อสร้างได้หลายสัญญา มาช่วยระดมให้สร้างเสร็จตามกรอบเวลา 5 ปี 6 เดือน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นโครงสร้างใต้ดิน

อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะว้นตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี ในส่วนงานโยธาช่วงตะวันตก ระยะทาง 16.4 กม. และลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ และการเดินรถตลอดสายจากบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. จำนวน 28 สถานี วงเงินลงทุน 128,128 ล้านบาท (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา)

เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงิน (Subsidy) แก่เอกชนในส่วนงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ งานเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาของโครงการฯ


และรัฐจะลงทุนค่าเวนคืน 14,661 ล้านบาท และอุดหนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา วงเงิน 96,012 ล้านบาท จะผ่อนชำระคืนเป็นรายปีเป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย นับจากเปิดเดินรถตลอดเส้นทาง