รฟม.ดัน”รถไฟฟ้าเชียงใหม่”เข้าบอร์ดมิ.ย.นี้ เอกชนไทย-จีนสนใจคึกคัก”เจ้าสัวเจริญ-เซ็นทรัล”ไม่ตกขบวน

รฟม.เปิด Market Sounding แทรมเชียงใหม่ วางไทม์ไลน์เสนอบอร์ด รฟม. มิ.ย.นี้ ก่อนชงบอร์ด PPP ปลายปี คาดใช้เวลาคัดเลือกเอกชน 1 ปี ประเมินผู้โดยสารปีแรก 1.6 หมื่นคน ด้านเอกชนบ่นอุบรูปแบบลงทุนไม่คุ้น ไม่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์-TOD พบเจ้าสัวเจริญ-เซ็นทรัล แจมด้วย

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการด้านกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วง รพ.นครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 27,211 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทำรายงานผบการศึกษาโครงการ ซึ่งวันที่ 12 ก.พ.2563 ได้จัดประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ขึ้นเพื่อหวังที่จะได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะที่จะมานำมาปรับใช้กับการศึกษาของโครงการ

@เวนคืน 4.4 พันล้าน

เบื้องต้นวางรูปแบบลงทุนโครงการในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า (PPP Net Cross) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ไม่รวมระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 5 ปี เมื่อทำเสร็จแล้วจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี และจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2565 เปิดให้บริการประมาณปี 2570

โครงการมีการตั้งงบรองรับการเวนคืนไว้ 4,400 ล้านบาท จุดใหญ่อยู่ที่แยกหนองฮ่อ ซึ่งจะต้องเวนคืน 25 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์ซ่อม ที่เหลือจะเป็นส่วนของทางขึ้นลงสถานี กระจายไปตามแนวเส้นทางต่างๆ ส่วนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ อยู่ระหว่างจัดทำเป็นคู่ขนาน เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ตามขั้นตอน

@ผู้โดยสารปีแรก 1.6 หมื่นคน

ด้าน นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า วงเงิน 27,211 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธาและเวนคืน 20,046 ล้านบาท, งานวางระบบรถไฟฟ้า (M&E) 3,334 ล้านบาท, งานระบบล้อเลื่อน 2,168 ล้านบาท, สำรองเงินฉุกเฉิน 966 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษา 698 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบโครงการที่ศึกษาไว้ขณะนี้ จะเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) ขนาดความกว้างของราง 2.4 เมตร ผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้ล้อยางหรือล้อเหล็กก็ได้ ทางวิ่งเป็นแบบวิ่งระดับดิน 9 กม. และใต้ดินประมาณ 6 กม.

โดยคาดการณ์ผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการที่ 16,487 คน/วัน และเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2590 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 42,321 คน/วัน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ที่ 13% ส่วนผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ยังอยู่ระหว่างสรุป แต่เบื้องต้นคาดว่าน่าจะติดลบ

@ชงบอร์ด รฟม.เคาะผลศึกษา มิ.ย.

“หลังจากนี้จะนำเสนอผลการศึกษาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ภายในเดือน มิ.ย.นี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จะเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาไม่เกินปลายปีนี้ และเสนอต่อ ครม.เห็นชอบ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการตามาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 เพื่อดำเนินการคัดเลือกเอกชน คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีต่อจากนี้ จึงจะได้ตัวเอกชนที่จะร่วมลงทุน” นายกีรติกล่าว

@เอกชนไม่ขานรับ PPP Net Cost

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสอบถาม เอกชนส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไปในทางกังวลเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุน โดยตัวแทนจาก บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง แสดงความคิดเห็นว่า เห็นตัวเลขต่างๆ แล้ว โครงการนี้น่าจะเหนื่อย เพราะคาดการณ์ผู้โดยสารปีแรกไม่ถึง 20,000 คน/วัน ไม่คุ้มที่ลงทุนแบบ PPP Net Cost แน่นอน

เพราะเอกชนรับภาระทั้งงานระบบและงานโยธาสูงมาก ควรจะเสนอเป็น PPP Gross Cost คือให้รัฐช่วยสนับสนุนทั้งค่าเวนคืนและค่าก่อสร้างงานโยธามากหน่อย เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐต้องชัดเจนว่าสถานีที่ออกแบบไว้ จะเป็นแบบเปิดหรือแบบปิด เพื่อให้เอกชนคาดการณ์ได้ถูกว่า จะกำหนดพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างไร

สอดคล้องกับตัวแทนจาก บมจ.คริสเตียนนีและนีลเส็น ที่มองว่ารูปแบบการลงทุนแบบ PPP Net Cost ไม่ตอบโจทย์เอกชนเท่าไหร่ เพราะแม้รัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างบางส่วน แต่รัฐมักจะให้เอกชนก่อสร้างเสร็จก่อน รัฐจึงจ่ายค่าอุดหนุนโครงการ ซึ่งหากอ้างอิงตามผล FIRR ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก

@ติงไม่มีพื้นที่พาณิชย์-TOD

ขณะเดียวกัน ในผลการศึกษาไม่ได้ระบุถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้เลย ลำพังรายได้จากค่าโดยสารไม่เพียงพอแน่นอน จึงอยากให้ศึกษาให้ชัดเจนด้วย และต้องรวมไปถึงการพัฒนา TOD ด้วย

ด้านตัวแทนจาก China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การหารายได้เชิงพาณิชย์ของโครงการนี้ดูจะทำได้ยาก เพราะรูปแบบสถานีมีขนาดเล็กมาก จึงอยากทราบว่าจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เผื่อบ้างไว้หรือไม่ ซึ่งที่ปรึกษาได้ตอบว่า กำลังอยู่ระหว่างศึกษา ยอมรับว่าพื้นที่สถานีระดับดินมีพื้นที่น้อยจริงๆ แต่พื้นที่สถานีใต้ดินน่าจะมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ แต่ขอเวลาศึกษาก่อน

@เสี่ยเจริญ-เซ็นทรัลมาด้วย

สำหรับเอกชนที่มาร่วมรับฟังวันนี้มาจากหลายบริษัท อาทิ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS), บจ.บีทีเอาอินฟาสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.คริสเตียนนีและนีลเส็น, บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ, บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ยูนิค, บมจ.ราชกรุ๊ป, บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ บจ.ซีเมนส์ โมบิลิตี้ เป็นต้น

และเป็นที่น่าสนใจที่มีบริษัทของ 2 เจ้าสัวดังร่วมรับฟัง Market Sounding ครั้งนี้ด้วย คือ บจ.ทีซีซี ภูมิพัฒน์ บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ปของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ส่วนกลุ่ม ซี.พี.มีชื่อในเอกสารลงทะเบียน แต่ไม่ได้เดินทางมาร่วมรับฟังแต่อย่างใด

ขณะที่บริษัทต่างประเทศที่สนใจ เช่น Bombardier Transportation Signal (Thailand) จากแคนาดา, Guangzhou Zhong Che Railway Sales and Leasing Co.Ltd (จีน), Hyundai Coporation (เกาหลีใต้), Sinohydro Coporation (จีน) และ China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC (จีน) เป็นต้น