“สัมปทานทางด่วน” ถึงครม.แล้ว “ศักดิ์สยาม” จี้”การทาง”คุย BEM หาทางออกหากหมดอายุก่อนปิดดีล

“ศักดิ์สยาม”ชง”สัมปทานทางด่วน”ถึงมือเลขาครม.แล้ว พร้อมแนบหนังสือให้ DSI ทำคดีพิเศษหาต้นตอคนทำให้เกิดข้อพิพาท สั่งบอร์ดการทางฯเปิดโต๊ะเจรจา BEM หาทางออกทางด่วนที่จะหมดอายุ 29 ก.พ.ตามหลัก repeat order ไม่ห่วงรักษาการผู้ว่าลาออก สามารถตั้งใหม่เพื่อเซ็นแทนได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีวาการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ด้วยการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนออกไปเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับวงเงินข้อพิพาทรวม 58,873 ล้านบาท ได้ส่งร่างสัญญาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อบรรจุวาระเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“โดยได้ตัดข้อความที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกันในอนาคตออกไปเรียบร้อย ส่วนจะครม.จะมีมติเมื่อใด ไม่สามารถรู้ได้ ขึ้นอยู่การพิจารณาของครม. อีกด้านหนึ่ง ก็ให้ทำหนังสือแนบเสนอให้อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สืบสวนสอบสวนหาผู้ที่ทำให้เกิดข้อพิพาทดังกล่าว โดยให้เป็นคดีพิเศษ”

ที่ผ่านมา ข้อพิพาทที่มีระหว่างกันมี 3 ประเด็นคือ 1. ทางแข่งขัน 2. การไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง และ 3. เป็นข้อพิาทเล็กๆคือการผิดสัญญาในการเช่าและออกแบบอาคาร ซึ่งต้องยอมรับว่า BEM มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องในประเด็นดังกล่าว โดยสรุปมีข้อพิพาทระหว่างกันรวม 17 คดี คิดเป็นวงเงินรวม 137,000 ล้านบาท

เมื่อได้เข้ามารับตำแหน่งจึงให้ตรวจสอบว่า ตัวเลขดังกล่าวอธิบายที่มาที่ไปได้ไหม ก็ปรากฎว่าอธิบายไม่ได้ เพราะเป็นมูลค่าที่เอกชนสามารถเรียกร้องเอาได้ จึงให้ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ไปเช็กข้อมูลจนสามารถปรับลดวงเงินดังกล่าวลงเหลือประมาณ 70,000 ล้านบาท

จากนั้น ครม.จึงมีมติให้ชดเชยข้อพิพาทดังกล่าว โดยไม่ให้ชดเชยเป็นวงเงิน แต่ให้ชดเชยเป็นระยะเวลา สนข.จึงนำไปเข้าโปรแกรมแบบจำลองระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (extended Bangkok Urban Model: eBUM) เพื่อสรุประยะเวลาที่ควรจะเป็น จนได้เวลาที่เหมาะสมคือ 19 ปี 1 เดือน

โดยมีฐานคิดจากสัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างกันและมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) ต่อมา จึงได้ให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมไปพูดคุยกับคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และ BEM เพื่อขอลดระยะเวลาลงมาเหลือ 15 ปี 8 เดือน จนเป็นผลในที่สุด

ทั้งนี้ หากการเสนอให้ครม.เห็นชอบดำเนินการไม่ทันวันที่ 29 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ทางด่วน 2 โครงการหมดอายุสัมปทานคือ 1. โครงการทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงดินแดง – ท่าเรือ , บางนา – ท่าเรือ และท่าเรือ – ดาวคะนอง ระยะทางรวม 27.1 กม.และ โครงการทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) 3 ส่วน ได้แก่ ส่วน A ช่วงถ.พระราม 9 – ถ.รัชดาภิเษก ระยะทาง 12.4 กม. ส่วน B ช่วงรัชดาภิเษก – บางโคล่ ระยะทาง 9.4 กม. และส่วน C ช่วงถ.รัชดาภิเษก – ถ.แจ้งวัฒนะ ระยะทาง 8 กม.

“ได้ทำหนังสือถึงบอร์ด กทพ. ให้เจรจากับ BEM เพราะตามเงื่อนไขสัญญาเดิมต้องเจรจากับ BEM เป็นรายแรกในลักษณะ Repeat Order เพื่อไม่ให้รัฐเสียหาย เพราะตามสัญญาเดิมหากไม่ทำ BEM มีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ โดยได้ทำหนังสือสั่งการถึงบอร์ดกทพ.ไปเมื่อวานนี้ (13 ก.พ.)”

ช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่เมื่อนายวิชาญ เอกรินทรากุล ลาออกจากตำแหน่งรักษาการผู้ว่า กทพ. จะมีผลกับการลงนามในสัญญาหรือไม่ นายศักดิ์สยามตอบว่า ไม่มีผล กทพ.สามารถแต่งตั้งรักษาการคนใหม่ขึ้น เพื่อลงนามในสัญญาได้