อัดเม็ดเงิน 9.8 แสนล้านหนุนอีอีซี ผุดสารพัดโครงข่ายเชื่อมรอบทิศ

หลังรัฐบาล คสช.ประกาศจะดึงนักลงทุนทุกมุมโลกมายังระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ครอบคลุมพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

ล่าสุด “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” จัดสรรเงิน 10 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับ และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน จะแล้วเสร็จ ก.ย.นี้ ตามไทม์ไลน์จะสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) มี “อุตตม สาวนายน” เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน 20 ก.ย. 2560

ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มี “บิ๊กตู่-พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประทับตรา ก่อนรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

“ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านต่าง ๆ เช่น อีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ความต้องการในการเดินทางและการขนส่งเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงต้องมีแผนการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์รองรับ ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด สนับสนุนการค้าชายแดนที่มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

“การศึกษาเน้นพื้นที่ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี รวมถึง สระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยศึกษาและวิเคราะห์ระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Super Cluster และประตูการค้าสำคัญทั้งโครงข่ายหลัก โครงข่ายรอง รวม 101 โครงการ วงเงิน 342,000 ล้านบาท ยังไม่รวมโครงการ PPP”

เมื่อมีการพัฒนาจะส่งให้ GDP เพิ่มขึ้น 4% ในปี 2564 และ 4.9% ในปี 2569 ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง คาดว่าจะเติบโต 18% ในปี 2564 และ 40% ในปี 2569

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในพื้นที่อีอีซี จะมี 168 โครงการ วงเงิน 988,948 ล้านบาท โดยแหล่งเงินก่อสร้างมาจาก 4 แหล่ง คือ งบประมาณประจำปี เงินรัฐวิสาหกิจ ให้เอกชนร่วม PPP และกองทุนหมุนเวียน แบ่งดำเนินการ 3 ระยะ เร่งด่วนปี 2560-2561 วงเงิน 217,412 ล้านบาท

ระยะกลางปี 2562-2564 วงเงิน 414,360 ล้านบาท และระยะยาวหลังปี 2565 เป็นต้นไป วงเงิน 328,349 ล้านบาท แยกเป็น “กรมทางหลวงชนบท” 22 โครงการ วงเงิน 62,946 ล้านบาท เช่น ถนนหมายเลข 7-ท่าเรือแหลมฉบัง, สายนิคมสร้างตนเอง-บ.ห้วยโป่ง, แยกถนน 314-ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

“กรมทางหลวง” 64 โครงการ 151,620 ล้านบาท อาทิ สาย 304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ตอน 2 และตอน 3, สาย 331 หนองขาม-มาบเอียง, สาย 344 บ้างบึง-แกลง ตอน 1

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” 8 โครงการ 378,490 ล้านบาท อาทิ ก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เป็นต้น

“กรมการขนส่งทางบก” 1 โครงการ เปิดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางรองรับสนามบินอู่ตะเภา”กรมเจ้าท่า” 2 โครงการ 1,109 ล้านบาท มีพัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอรี่พัทยา-หัวหิน เป็นต้น

“การท่าเรือแห่งประเทศไทย” 3 โครงการ 146,443 ล้านบาท ได้แก่ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งท่าเทียบเรือ A

“เมืองพัทยา” 1 โครงการ 20,102 ล้านบาท รถไฟรางเบา (Tram) เมืองพัทยา “กองทัพเรือ” มี 19 โครงการ รองรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 168,814 ล้านบาท อาทิ ก่อสร้างไฮสปีดแท็กซี่เวย์, อาคารจอดรถ, ติดกล้องวงจรปิด เป็นต้น

และอีก 13 โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 2,050 ล้านบาท เช่น สำรวจออกแบบใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ, ก่อสร้างท่าเรือเฟอรี่ เป็นต้น

“บมจ.การบินไทย” 1 โครงการ 5,030 ล้านบาท คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในสนามบินอู่ตะเภา

“การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” 1 โครงการ 11,005 ล้านบาท พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด

“การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” 10 โครงการ 18,261 ล้านบาท อาทิ โครงการเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าระยะที่ 3, พัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 9 ส่วนที่ 3

“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” 2 โครงการ 22,198 ล้านบาท ขยายระบบไฟฟ้าระยะที่ 12 และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันออกเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

“การประปาส่วนภูมิภาค” 18 โครงการ 806 ล้านบาท และ “สนข.” 3 โครงการ 70 ล้านบาท ศึกษาการพัฒนาลานจัดคิวรถบรรทุกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง, การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ICD) และศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี