รับเหมาภูธรล้มประมูล กทม. 5 พันล้าน เคาะราคาใหม่ทั้งหมด 6 โครงการ

รับเหมาภูธรป่วนงานประมูลถนน ทางยกระดับ สะพาน กทม. ผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง สั่งยกเลิกเคาะราคาใหม่ทั้งหมด 6 โครงการ มูลค่า 4,917 ล้านบาท เริ่ม มี.ค. นี้ เร่งตอกเข็ม พ.ค. หลังช้ามาแรมปี ลุยแน่โปรเจ็กต์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย วงเงิน 1.2 หมื่นล้าน ประเดิมเวนคืนสร้างงานสะพาน 1.3 พันล้านรับรัฐสภาใหม่ เสร็จปี’66

นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการและรักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการใหม่ที่ได้งบประมาณปี 2562 จำนวน 6 โครงการ วงเงินรวม 4,917 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดประมูล e-Bidding ไปแล้วยังไม่ได้ผู้รับเหมาก่อสร้าง

เปิดประมูลใหม่

เนื่องจากจะต้องเปิดประมูลใหม่ หลังมีข้อร้องเรียนไปยังกรมบัญชีกลางเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมา ที่กำหนดว่าต้องมีผลงานเฉพาะในพื้นที่ กทม. ทำให้ผู้รับเหมาเข้าประมูลได้ไม่มาก ทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จึงให้เปิดประมูลใหม่ทั้งหมด และปรับรายละเอียดคุณสมบัติใหม่ให้ผู้รับเหมาทั่วประเทศสามารถเข้าร่วมประมูลได้

“มีร้องเรียนประมูลทางเชื่อมถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑล สาย 2 และถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง แต่เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทางผู้ว่าฯจึงให้ยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ คาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้จะเร่งประมูลให้ครบทั้ง 6 โครงการ เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างภายในเดือน พ.ค.นี้ มีกำหนดเสร็จในปี 2564-2565 หลังล่าช้ามาร่วมปีแล้ว”

วงเงินก่อสร้างเท่าเดิม

ประกอบด้วย 1.ถนนต่อเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน 50 ถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท แบ่งประมูล 2 สัญญา สัญญาละ 900 ล้านบาท

สัญญาที่ 1 จากถนนวิภาวดีฯ-สะพานข้ามคลองลาดพร้าว สร้าง 720 วัน เป็นงานสร้างถนน 5-6 ช่องจราจร ระยะทาง 920 เมตร สะพานยกระดับ 1 ช่องจราจร ขนาด 3 ช่องจราจร สะพานเลียบคลองลาดพร้าว 3 ช่องจราจร ระยะทาง 630 เมตร

และสัญญาที่ 2 จากสะพานข้ามคลองลาดพร้าว-ถนนเทพรักษ์ สร้าง 720 วัน เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ยาว 1 กม. สะพานข้ามคลองลาดพร้าว 2 แห่ง และถนน 1.2 กม.

2.ทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจร ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ช่วงตลาดลาดกระบัง-แยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 2.2 กม. ค่าก่อสร้าง 1,670 ล้านบาท

3.ก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขน ด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากปัจจุบันเป็นถนนชั่วคราว 2 ช่องจราจร สร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมพนังกั้นน้ำริมคลอง ระยะทาง 2 กม. ค่าก่อสร้าง 375 ล้านบาท

4.ขยายถนนแสมดำ จากพระราม 2-คลองสนามชัย ขนาด 2-4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 3.8 กม. ค่าก่อสร้าง 300 ล้านบาท

5.ก่อสร้างถนนเทิดราชันเชื่อมถนนเชิดวุฒากาศ เป็นขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมเขื่อนริมคลองตลอดแนว ระยะทาง 1 กม. ค่าก่อสร้าง 321 ล้านบาท

และ 6.ขยายถนนรามคำแหง 24 พร้อมทางสะพานลอยยกระดับจากแยกถาวรธวัช-หน้ามหาวิทยาลัยเอแบค เป็น 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.2 กม. ค่าก่อสร้าง 450 ล้านบาท

ลุยเวนคืนสะพานเกียกกาย

นายไทวุฒิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ได้รับงบประมาณปี 2563 จะเปิดประมูลในเดือน มี.ค.-เม.ย.และเริ่มก่อสร้างในปีนี้ ได้แก่ โครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑล สาย 2-พุทธมณฑล สาย 3 วงเงิน 1,515 ล้านบาท ปรับปรุงถนนไมตรีจิต 38-คลอง 9 วงเงิน 190 ล้านบาท และโครงการสะพานเกียกกายจะประมูลงานสัญญาที่ 2 เฉพาะงานสะพาน วงเงิน 1,350 ล้านบาท จะใช้งบประมาณของ กทม. และขอจากรัฐบาล 50 : 50 จากทั้งโครงการ ใช้เงินลงทุน 12,717 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 5,225 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 135 ล้านบาท ค่าเวนคืน 7,490 ล้านบาท

โดยรัฐจะสนับสนุนงบประมาณการเวนคืนที่ดิน ส่วนค่าก่อสร้างรัฐและ กทม.จะออกค่าก่อสร้างคนละ 50 : 50 ใช้เวลาสร้าง 5 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา กทม.ได้งบฯอุดหนุนจากรัฐบาลจ่ายเงินทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้หน่วยงานทหารแล้ว จำนวน 1,313 ล้านบาท และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในปี 2563 เวนคืนที่ดิน จำนวน 1,793 ล้านบาท ค่าก่อสร้างช่วงที่ 2 วงเงิน 135 ล้านบาท ส่วนงานก่อสร้างที่เหลือจะขอจัดสรรงบฯในปี 2564 มาดำเนินการต่อไป

“รูปแบบก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 6 ช่องจราจร ทางยกระดับ ขนาด 4-6 ช่องจราจร เชื่อมต่อจากสะพานทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ถนนระดับดินอยู่ใต้ทางยกระดับ ขนาด 6-8 ช่องจราจร ระยะทางรวม 5.9 กม. มีทางขึ้น-ลง จำนวน 9 แห่ง”

แบ่งก่อสร้าง 5 ตอน

จะแบ่งสร้าง 5 ช่วง (ดูแผนที่) ได้แก่ ช่วงที่ 1 ค่าเวนคืน 4,040 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 770 ล้านบาท ช่วงที่ 2 งานสะพานค่าก่อสร้าง 1,350 ล้านบาท ช่วงที่ 3 ค่าเวนคืนที่ดิน 2,649 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 980 ล้านบาท ช่วงที่ 4 ค่าเวนคืนที่ดิน 575 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท และช่วงที่ 5 ค่าเวนคืนที่ดิน 198 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,025 ล้านบาท

ตามแผนจะสร้างเสร็จปี 2566 จะเป็นโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจร 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ตลอดจนเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมรอบรัฐสภาใหม่ รวมถึงสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากจะมีการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมไปยังย่านจตุจักรด้วย