เมืองสองแควเฮ! ครม.ไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้า ตอกเข็มปี’66 “ศักดิ์สยาม” ลัดฟ้าเกาหลี ‪MOC ทางด่วนใต้ดิน‬

ครม.เคาะรฟม.สร้าง “แทรมพิษณุโลก” วางไทม์ไลน์ เปิดประมูล ก.ย. 65 ตอกเข็ม ต.ค. 66 คาดผู้โดยสารปีแรก 5.7พันคน/วัน “ศักดิ์สยาม” เตรียมลัดฟ้าไปเกาหลีใต้ MOC ร่วมมือขนส่งทางถนน-ดูงานแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.พ.2563 เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.กำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจ.พิษณุโลก โดยก่อนหน้านี้ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในจ.นครราชสีมา เชียงใหม่ พังงา-ภูเก็ต ไปแล้ว

หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดจ้างจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงาน PPP ซึ่งคาดว่าจะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ม.ค.2563 – ก.ย. 2564 ส่วนการขอขออนุมัติดำเนินการในช่วง พ.ค. 2564 – มี.ค. 2565 จะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ประมาณ ก.ย.2565 – ต.ค.2566 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ ต.ค.2566

โดย รฟม.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาความเหมาะสมของโครงการ จนได้ข้อสรุปว่าให้ดำเนินการโครงการในลักษณะ รถรางล้อยาง (Auto Tram) ในสายสีแดง ช่วงม.พิษณุโลก – เซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กม. 15 สถานี วงเงิน 3,340 ล้านบาท

มีรูปแบบการลงทุนคือ ให้เอกชนร่วมลงทุนด้านการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ส่วนรัฐลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและระบบรถไฟฟ้า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.01% คาดการณ์ผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการ 5,700 คน/เที่ยว/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 13,700 คน/เที่ยว/วัน ในปี 2574

“ไทม์ไลน์หลังจากนี้ คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ในช่วงก.ย.2565 – ต.ค.2566 เริ่มก่อสร้างในปี 2566 และจะไปแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569”

น.ส.ไตรสุลี กล่าวต่อว่า ในวันท่ี ‪20 -23 ก.พ.นี้‬ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ เพื่อลงนามร่วมกับในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation: MOC) ด้านการขนส่งทางถนนกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งเกาหลีใต้


ในประเด็นการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ, ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ, ทางด่วนใต้ดิน, การพัฒนาจุดพักรถ และการพัฒนามอเตอร์เวย์ รูปแบบความร่วมมือเป็นไปในแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ การวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เป็นต้น โดยในโอกาสนี้ จะไปเยี่ยมชมการทดสอบการรับแรงกระแทกของแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ด้วย