เมดอินไทยแลนด์! “กรมราง” ผนึก “กระทรวงอุดมศึกษา” ดันระบบรางใช้ของไทย 40% ใน 4 ปี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม เป็นการลงนามภายใต้ความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนาระบบราง

รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในประเทศด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ด้านระบบราง และเป็นการช่วยสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า

เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติ ดังนั้น การนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง เป็นการต่อยอดให้อุตสาหกรรมระบบรางเกิดขึ้นได้ในประเทศ

สอดคล้องกันกับสภาอตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีนโยบาย Made in Thailand พอดี ซึ่งหนึ่งในภารกิจของ อว. คือการสร้างกำลังพล โดยคนที่จะกำหนดจะมาจากเอกชนเป็นหลัก ต้องตอบโจทย์ให้ได้เป็นสำคัญ และจะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและส.อ.ท. เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ต่อไป

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวมีระยะความร่วมมือกัน 5 ปี หลังจากนี้จะต้องมีการประชุมร่วมกัน เพื่อร่าง Action Plan แผนงานต่างๆ โดยคาดว่าจะจัดประชุมร่วมกันครั้งแรกในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ คาดว่าโดยคาดว่าใน 4 ปีต่อจากนี้จะมีสัดส่วนของการใช้ผลิตภัณฑ์ Local Content เพิ่มขึ้น 40% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีการใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง 9,600 ล้านบาท/ปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็นกว่า 15,000 ล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะศึกษาและวิจัยแล้วเสร็จภายใน 8 เดือน จากนั้นจะทำการทดสอบทุกสภาวะอากาศระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่จะผู้ผลิตภายในประเทศว่าสามารถผลิตได้หรือไม่ และทดลองใช้ต่อไป โดยคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2566