ทุ่ม 4 หมื่นล้านขยายดอนเมืองเฟส3 แก้คอขวด-ดีเดย์ พ.ค.63 เปิดจุดเช็กอินกรุ๊ปทัวร์

รับ 40 ล้านคน - ทอท.เตรียมทุ่มเงิน 3.8 หมื่นล้านขยายสนามบินเฟส 3 เพิ่มขีดความสามารถผู้โดยสารจาก 30 ล้านคน/ปี เป็น 40 ล้านคน/ปี หลังผู้โดยสารล้นทะลักและลงทุนสร้างสกายวอล์กเชื่อมสถานีดอนเมืองรับเปิดรถไฟฟ้าสายสีแดง

ทอท.อัด 3.8 หมื่นล้าน เร่งขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3 ผุดเทอร์มินอลใหม่ใหญ่ 1.55 แสน ตร.ม. แก้คอขวด ผู้โดยสารล้น 40 ล้านคน/ปี เผยการลงทุนมีทั้งนำรายได้พัฒนาเอง ดึงเอกชนร่วม PPP พื้นที่เชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ รถไฟฟ้า APM คาดชง ครม.อนุมัติปีนี้ เปิดประมูลก่อสร้างปี’64 ทยอยเสร็จปี’66-68 ดีเดย์ พ.ค.นี้เปิดจุดเช็กอินกรุ๊ปทัวร์ เจียด 50 ล้านสร้างสกายวอล์กเชื่อมสายสีแดง จ่อผุดรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทะลวงการจราจรรอบทิศทาง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.มีแผนจะลงทุนพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการอยู่ที่ 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกินขีดความสามารถที่รับได้ 30 ล้านคนต่อปี

ทอท.ลงทุนเองพ่วงเปิด PPP

“ทอท.จะใช้เงินจากรายได้มาลงทุนเองในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เช่น อาคารผู้โดยสาร ส่วนที่เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า ที่จอดรถ จะเปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุน หลังจากงานก่อสร้างแล้วเสร็จ ตามแผนจะเปิดใช้บริการในปี 2568”

เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 38,000 ล้านบาท ตามแผนจะแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2568-2569 จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี

ความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้รอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณารายละเอียดการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนจนจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติหรือไม่

“EIA ที่ทำเสนอเข้าไปเป็นแพ็กรวมทั้งโครงการ หากได้รับคำตอบแล้วจะต้องนำโครงการเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการหรือบอร์ด ทอท.ไปแล้ว”

เสนอ ครม.อนุมัติปีนี้

เรืออากาศโทสัมพันธ์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการลงทุนหลักในเฟส 3 ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มหลุมจอดเครื่องบิน 12 หลุมจอดทางด้านเหนือ วงเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ ทอท.จะเร่งรัดก่อนเป็นโครงการแรก เนื่องจากกองทัพอากาศ (ทอ.) ทำเรื่องขอหลุมจอดเครื่องบินจำนวน 13 หลุมด้านตะวันออกคืนไปแล้ว โดยจะของบประมาณจากรัฐบาลในปี 2563 จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อศึกษาออกแบบโครงการ ส่วนการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 28 เดือน จะแล้วเสร็จในปี 2566

2.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตร.ม.เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลักมีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะใช้งบประมาณของ ทอท.เอง จะเริ่มสร้างในปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 จากนั้นในปี 2568 การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 จะแล้วเสร็จพร้อมปรับเปลี่ยนให้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ (domestic) ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่รองรับผู้โดยสารภายในประเทศอยู่แล้วแทน

3.อาคาร JUNCTION BUILDING พื้นที่ร้านค้าและร้านอาหาร และงานก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ช่วงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ถึงที่จอดรถด้านใต้ วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาวงเงินที่ต้องใช้และรูปแบบการลงทุน ในเบื้องต้นกำหนดจะใช้รูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบของ PPP ว่าจะเป็น PPP net cost หรือ PPP gross cost ระยะเวลาสัญญาเบื้องต้น 15 ปี ส่วนรูปแบบอาคารและพื้นที่ใช้สอย เอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจะต้องเป็นผู้ออกแบบมาให้ ทอท.พิจารณา

“ทั้ง 3 โครงการ จะเสนอ ครม.ในปีนี้ ซึ่งส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว แต่ที่ยังไม่เสนอ ครม. เพราะ ครม.แจ้งว่า ต้องการให้รายงาน EIA ของโครงการผ่านการพิจารณาให้เรียบร้อยก่อน หากผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว ทอท.จะเริ่มต้นขั้นตอนการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 กำลังเลือกว่าจะใช้รูปแบบจ้างเหมาเอกชนออกแบบ (เทิร์นคีย์) หรือจ้างออกแบบรายละเอียดควบคู่การก่อสร้างหรือดีไซน์แอนด์บิลด์” เรืออากาศโทสัมพันธ์กล่าวและว่า

พ.ค.นี้อาคารกรุ๊ปทัวร์เสร็จ

ทั้งนี้ ในช่วงที่รออาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ทอท.จะเร่งโครงการอาคารบริการผู้โดยสารสำหรับการเช็กอินของนักท่องเที่ยวหรืออาคารกรุ๊ปทัวร์ บริเวณลานจอดรถรับนักท่องเที่ยวเดิม เพื่อลดความแออัด จะเป็นอาคารสูง 4 ชั้น พื้นที่รวม 12,000 ตร.ม. วงเงิน 199 ล้านบาท ขณะนี้กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2563 นี้

เนื่องจากโครงสร้างของอาคารใช้โครงสร้างเหล็กประกอบแบบน็อกดาวน์ คือ นำส่วนสำเร็จมาแล้วจากโรงงานผลิต ดำเนินการประกอบในไซต์งาน ทำให้การก่อสร้างทำได้อย่างรวดเร็ว และจะเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้านทิศเหนือด้วย รวมถึงในบริเวณอาคารดังกล่าวทางสายการบินไทยแอร์เอเชียจะมีการติดตั้งระบบเช็กอินแบบสแกนใบหน้าเครื่องแรกในประเทศไทยอีกด้วย

เรืออากาศโทสัมพันธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการก่อสร้างสกายวอล์ก ความยาว 100 เมตร วงเงิน 50 ล้านบาท ต่อเชื่อมกับสถานีดอนเมืองของรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จะสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 นี้ รับกับการเปิดทดลองของสายสีแดงพอดี

สร้างทางเชื่อมสีแดง

ขณะเดียวกันมีแนวคิดจะลงทุนรถไฟฟ้าล้อยาง (แทรม) เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ที่กำลังจะเปิดเต็มรูปแบบช่วงปลายปี 2563 โดย ทอท.มีแนวคิดที่ต้องการเชื่อมสายสีเขียวที่ถนนพหลโยธินมาถนนวิภาวดีเพื่อเข้าสนามบินดอนเมือง ระยะทางประมาณ 3 กม. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท มี 2 ทางเลือก จะตัดผ่านพื้นที่ ทอ. หรือใช้แนวถนนตัดใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เชื่อมวิภาวดี-บิ๊กซีสะพานใหม่ จะมีสถานีสายหยุดของสายสีเขียวอยู่บริเวณนั้น

อนึ่ง แผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 มี 6 กลุ่มงาน (ดูแผนผัง) ได้แก่ 1.กลุ่มงานพัฒนาด้านทิศใต้ อาทิ ปรับปรุงระบบถนนภายใน สร้างอาคารผู้โดยสาร 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบิน ปรับปรุงอาคารจอดรถ 7 ชั้นเป็นชานชาลาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารปรับปรุงคลังสินค้า 1 กับ 2

2.กลุ่มงานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ อาทิ ปรับปรุงระบบถนนภายใน ปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน ขยายอาคารเทียบเครื่องบิน 3.กลุ่มงานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน เช่น แท็กซี่เวย์ ลานจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล 4.กลุ่มงานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือและอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4 5.กลุ่มงานสนับสนุนโครงการพัฒนา เช่น สร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ พร้อมทางขับเชื่อมและระบบเติมนํ้ามันอากาศยาน ระบบสาธารณูปโภค และ 6.กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม