“ศักดิ์สยาม” ยันไฮสปีด 3 สนามบิน ไม่เอื้อซี.พี.

“ศักดิ์สยาม” ขึ้นแจงปมไฮสปีด 3 สนามบิน ยันไม่เอื้อซี.พี. เปิดประมูลแบบนานาชาติตามขั้นตอน แจงรวมที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง เผยลงนามช้าติดถกส่งมอบพื้นที่ ย้ำสิทธิ์การปรับเปลี่ยนสถานี-ทำ Spur Line มีบอกใน RFP ไม่ได้เพิ่มทีหลัง

เมื่อ‪เวลา 10.33 น.‬ ที่รัฐสภา สี่แยกเกียกกาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงกรณีที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อ 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาทว่า ประเด็นแรก โครงการนี้ไม่ได้เอื้อเอกชนรายใหญ่ เพราะกระบวนการประมูลใช้รูปแบบ International Bidding (ประมูลแบบนานาชาติ) มีเอกชนเข้ามาซื้อซองเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) 31 ราย เป็นบริษัทในไทย 14 รายและต่างประเทศรวม 17 ราย

และยื่นเสนอราคา 2 กลุ่ม คือกลุ่ม BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และบมจ.ราชกรุ๊ป และกลุ่ม CPH ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ช.การช่าง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลล๊อปเมนต์ และChina Railway Construction Corporation Limited (CRCC)

ทั้ง 2 กลุ่ม ผ่านการพิจารณาซองที่ 1 (คุณสมบัติ และซอง 2 (เทคนิค) ส่วนข้อเสนอในซองที่ 3 (การเงิน) ก็ได้ให้กลุ่ม CPH ชนะเพราะเสนอขอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุดที่ 149,650 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติที่ 152,457 ล้านบาท หรือ NPV ที่ 119,426 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการคัดเลือกทุกประการ

ประเด็นที่ 2 การรวมเอาโครงการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและศรีราชามาไว้กับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ก็เพราะว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูงมากถึง 179,389.09 ล้านบาท มีผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (FIRR) ที่ 2.12% ส่วนค่า NPV จะขาดทุนที่ 107,856 ล้านบาท ซึ่งไม่มีเอกชนรายใดมายื่นข้อเสนอแน่นอน

ส่วนการพัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชามีวงเงินลงทุน 45,155.27 ล้านบาท ส่วน NPV อยู่ที่ 30,087 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก และหากแยกโครงการออกจากกัน ก็จะมีแต่การพัฒนาที่ดินเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครทำรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเมื่อรวมทั้งสองส่วนแล้ว จะมีมูลค่าลงทุนที่ 224,544 ล้านบาท มีค่า NPV -77,769 ล้านบาท ซึ่งโครงการก็ยังขาดทุนอยู่

Advertisment

“ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเข้ามาลงทุนร่วมอีก 119,426 ล้านบาท โดยรัฐจะทยอยจ่ายคืนเป็นระยะเวลา 10 ปี หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่ม CPH เป็นผู้ชนะการประมูล จึงทำให้รัฐประหยัดเงินลงทุนไปได้ถึง 60,000 ล้านบาท”

ประเด็นที่ 3 การลงนามในสัญญาที่ล่าช้ามาจากการส่งมอบพื้นที่โครงการที่ติดปัญหาหลายประการ ซึ่งคิดตามระยะทางของโครงการแล้ว ต้องส่งมอบรวม 4,429 ไร่ และตาม RFP ระบุให้รัฐส่งมอบพื้นที่ให้ได้มากกว่า 50% หลังจากที่มีการเจรจา และจากการลงพื้นที่สำรวจก็พบว่ามีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งระบบสาธารณูปโภค เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อส่งน้ำประปา อุโมงค์ระบายน้ำ เป็นต้น กีดขวาง 300 จุด, ผู้บุกรุก 900 หลังคาเรือน เป็นต้น

Advertisment

ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่แล้ว โดยมีกรอบเวลาชัดเจนกับหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าโง่ เพราะใน RFP ระบุไว้แล้วว่า กรณีส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไม่ให้ชดเชยเป็นตัวเงินเด็ดขาด

และประเด็นสุดท้าย การลดค่าปรับกรณีก่อสร้าง และการเอื้อให้เอกชนก่อสร้าง Spur Line รวมถึงการเพิ่มสิทธิ์ First Right นั้น ขอยืนยันว่าไม่จริง การพิจารณาค่าปรับต้องสอดคล้องกับ RFP และทางอีอีซีได้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วพบว่า เราได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ ส่วนสิทธิ์ในการย้านสถานีหรือทำ Spur Line มีระบุใน RFP ตั้งแต่แรกแล้ว