อู่ตะเภาเร่งสร้างเชื่อมั่นนักลงทุน ด้านรฟท.มั่นใจสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามแผน

เมื่อวันที่ 21 กันยายน เวลา 08.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยในการเสวนาเชิงนโยบาย “6 เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ” ในงานสัมมนามติชนร่วมกับสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ขณะอยู่ระหว่างจัดทำมาสเตอร์แพลน 30 ปีข้างหน้าในการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะดำเนินการได้แล้วเสร็จประมาณกลางปี 2561 โดยที่ผ่านมาก็มีความพยายามจะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเที่ยวบิน การขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ท่าอากาศยานอู่ตะเภายังมีพื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนา โดยที่ผ่านมาทางท่าอากาศยานยังได้ทยอยเปิดให้บริการเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วง 6 เดือนที่แล้วก็เปิดพื้นที่รองรับผู้โดยสารขาเข้า ส่วนในปลายปีนี้ก็จะเปิดพื้นที่ขาเข้าระหว่างประเทศ และจะทยอยเปิดไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถเปิดพร้อมกันได้ทั้งหมด

ด้านนายอานนท์ เหลืองบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟท.ได้มีการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา โดยได้นำข้อมูลของอีอีซีมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งนอกจากเรื่องของรถไฟความเร็วสูงแล้ว รฟท.ยังจะมีการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเพื่อเชื่อมโยงไปยังอีอีซี โดยจะมีการจัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อใช้เป็นสำนักงานอีอีซีด้วย

นายอานนท์ กล่าวว่า การพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าว นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว ยังสนับสนุนการท่องเที่ยว แก้ปัญหาการจราจร และลดอุบัติเหตุได้ด้วย โดยเป็นการศึกษารวมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะจะใช้รางร่วมกัน โดยจะใช้ความเร็วช่วงที่อยู่ในเมืองประมาณ 160 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง(ชม.) ส่วนนอกเมือง คือ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ระยอง จะใช้ความเร็ว 250 กม./ชม. อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ที่ 2 บาทต่อกม. ค่าแรกเข้า 13 บาท ส่วนรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่ 1.8 บาท/กม. ค่าแรกเข้า 20 บาท เฉลี่ยค่าโดยสารจากดอนเมือง-ระยอง อยู่ระหว่าง 400-500 บาท

นายอานนท์ กล่าวว่า มีการประเมินไว้ว่า หลังจากเปิดให้บริการในปี 2566 จะมีผู้โดยสารใช้แอร์พอร์ตลิ้งก์ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ส่วนไฮสปีดเทรนอยู่ที่ 6.5 หมื่นคนต่อวัน

นายอานนท์ กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.ได้มีการศึกษาคืบหน้าแล้ว 90% โดยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ จะนำเสนอคณะกรรมการอีอีซี ชุดที่มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ด้วยได้ จากนั้นในเดือนมกราคม 2561 จะสามารถประกาศเชิญชวนนักลงทุน และปลายเดือนสิงหาคม 2561 จะลงนามกับผู้ร่วมลงทุนได้ เบื้องต้นกำหนดมูลค่าลงทุนของโครงการไว้ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานก่อสร้างโยธา 1.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานระบบ และขบวนรถ

นายอานนท์ กล่าวว่า นอกจากรถไฟความเร็วสูงแล้ว รฟท.ยังจะมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าใน 3 ท่าเรือพื้นที่อีอีซีด้วย

“ผมมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อม 3 สนามบินได้ตามแผนงานที่กำหนดแน่นอน”นายอานนท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายอานนท์ พูดได้ฉายเพาเวอร์พ้อยให้ผู้สัมมนาเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จึงได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนายกโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก

 


ที่มา  มติชนออนไลน์