รฟม.สปีดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดีเดย์ 15 มี.ค.ประกาศรับฟังความคิดเห็น TOR ขายซอง 1 พ.ค.นี้

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 1/2563

การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมนัดแรกเพื่อพิจารณาแผนการดำเนินงานการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนงานและสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ได้มีมติอนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบ PPP Net Cost

โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ส่วนตะวันตก และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี

ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีกำหนดจะเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ (Request for Proposal: RFP) ในวันที่ 15 มีนาคม 2563

จากนั้นสรุปความคิดเห็นเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบ RFP ภายในเดือนเมษายน 2563 และกำหนดจะประกาศเชิญชวนและขายเอกสาร RFP ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563

ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะกระชับขั้นตอนการประเมินข้อเสนอและเจรจากับเอกชนผู้ได้รับคัดเลือกเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ให้สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการและเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชน ตามพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวม 4 ฉบับ ซึ่งคาดว่า สคร. จะออกประกาศดังกล่าวกลางเดือนมีนาคม 2563


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)