มี.ค.ปิดดีลเมืองการบินอู่ตะเภา “เนาวรัตน์” ยื่นต่ำสุดรันเวย์ 3 สุวรรณภูมิ

สนามบินอู่ตะเภา
ภาพ: การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

บอร์ดอีอีซีรับทราบ “กลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐ-ซิโนไทยฯ” คว้าเมืองการบินอู่ตะเภา 3 แสนล้าน เจรจาปิดดีล เม.ย.นี้ อนุมัติค่ารื้อสาธารณูปโภค 4.1 พันล้าน เร่งเคลียร์พื้นที่ไฮสปีด ซี.พี. รอ ครม.ไฟเขียว ด้าน “เนาวรัตน์ฯ-ถนอมวงศ์ฯ” เคาะราคาสร้างรันเวย์ 3 ต่ำสุด 9.7 พันล้าน ปาดหน้า ITD ช.การช่าง ซิโน-ไทยฯ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เปิดเผยว่า วันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ประชุมบอร์ดอีอีซี ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับรายงานจากคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท ที่มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คาดว่าจะเจรจาสัญญาได้ข้อสรุปภายในเดือน มี.ค.นี้

“ไทม์ไลน์ต่อจากนี้ หลังเจรจาจบแล้ว จะส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาใช้เวลา 2 สัปดาห์ หรือประมาณต้นเดือน เม.ย. หลังจากนั้นจะส่งกลับมาให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบร่างสัญญาและผลการคัดเลือกเอกชน ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อลงนามในสัญญาต่อไป กระบวนการทั้งหมดจะสิ้นสุดในเดือน เม.ย.นี้”

นายคณิศกล่าวว่า ในการเจรจาคณะกรรมการคัดเลือกยังไม่มีการเปิดข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนอเพิ่มเติม ที่เพิ่มประสิทธิภาพโครงการ ยังเจรจาในส่วนของซองที่ 3 การเงิน และเมื่อมีการนำร่างสัญญาของโครงการให้กลุ่ม BBS ตรวจทาน ทาง BBS มีคำถามกลับมาประมาณ 100 ข้อ แต่ยังไม่มีคำถามใดที่คณะกรรมการคัดเลือกยังตอบไม่ได้ และส่วนใหญ่ตอบไปเกือบหมดแล้ว ส่วนการขอสนับสนุนจากรัฐ กลุ่ม BBS ยังไม่ได้เสนออะไรให้รัฐช่วยเพิ่มเติม

ส่วนการรับมอบ master plan ของสนามบิน เบื้องต้นได้ส่งมอบให้กลุ่ม BBS แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า ตัว master plan แบ่งได้ 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรก พื้นที่ 6,500 ไร่ เปิดโอกาสให้เอกชนกำหนดอาคารและสถานที่ต่าง ๆ ได้เอง ส่วนนี้จะพิจารณาภายหลังได้ว่าจะกำหนดพื้นที่ส่วนใดบ้าง แต่ BBS มีการกำหนดพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีบ้างแล้ว แต่ขอไม่เปิดเผย และส่วนที่ 2 เป็นส่วนของโครงสร้างพื้นฐานภายในสนามบิน เช่น ทางวิ่ง หอบังคับการบิน เป็นต้น ส่วนนี้คงไม่มีการปรับเปลี่ยน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังอนุมัติกรอบงบประมาณดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติมอีก 4,103 ล้านบาท ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเพื่อเปิดหน้าดินก่อนหน้านี้ 490 ล้านบาท หลังจากนี้จะเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า วันที่ 6 มี.ค.มียื่นเคาะราคาประมูล e-Bidding โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ 2 สัญญา วงเงิน 13,206 ล้านบาท แยกเป็นทางวิ่งทางขับ 10,412.56 ล้านบาท และปรับปรุงคุณภาพดินอาคารเทียบเครื่องรองหลังที่ 2 วงเงิน 2,793.94 ล้านบาท ผลเคาะราคาของงานรันเวย์ ปรากฏผู้ซื้อทีโออาร์ 12 ราย ยื่นเคาะราคา 3 ราย ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จอยต์เวนเจอร์กับ บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ จอยต์เวนเจอร์กับ จบ.ถนอมวงศ์บริการ ซึ่งเนาวรัตน์ฯและถนอมวงศ์บริการ เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,713 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 10,412 ล้านบาทที่ 699 ล้านบาท


แหล่งข่าวจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า แนวทางคัดเลือกผู้ชนะการประมูลคณะกรรมการคัดเลือกผลประมูลจะพิจารณาคุณสมบัติผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุด ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.พิจารณาอนุมัติภายในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ เมื่อได้ผู้รับเหมาจะต้องรอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ก่อนจึงจะเซ็นสัญญา โครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี สำหรับพื้นที่ก่อสร้างอยู่ทิศตะวันออก ห่างรันเวย์หนึ่ง 400 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับการจราจรทางอากาศได้มากขึ้น จาก 64 เป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง