“ไฮสปีด ซี.พี.” ติดบ่วงเวนคืน รถไฟมึนไล่ผู้บุกรุก-ลุ้นตอกเข็มปี’64

ยังคงติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มี “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นทัพหน้าเคลียร์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หวังส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือกลุ่ม ซี.พี. ให้เริ่มงานโดยเร็ว แต่ดูเหมือนน่าจะไม่มีข่าวดีในปีนี้ ว่ากันว่าอย่างน้อยน่าจะ 1 ปีครึ่ง ถึงจะเริ่มตอกเข็มต้นแรกได้

ซี.พี.ขอเวนคืนเพิ่ม 3 จุด

ผลการประชุมนัดที่ 2/2563 นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่า จากการประเมินงบประมาณสำหรับรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคตลอดเส้นทาง วงเงินอยู่ที่ 4,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบเดิม 490 ล้านบาท ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) อนุมัติ จะต้องขอขยายกรอบเพิ่มเติมจากบอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ

“ซี.พี.ส่งร่างแผนที่แบบก่อสร้างเบื้องต้น ได้เสนอขอเวนคืนที่ดินเพิ่ม 3 จุด เพื่อขยายแนวเขตทางจาก 25 เมตร เป็น 40 เมตร ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง อุโมงค์เขาชีจรรย์ และช่วงเข้าสนามบินอู่ตะเภา ผลพิจารณาเบื้องต้นไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพิ่มเติม เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้าง เป็นการขอใช้พื้นที่เพิ่มสำหรับวางเครื่องจักรเท่านั้น”

ทั้งนี้ยังไม่ได้อนุมัติ และให้ ซี.พี.กลับไปทำเหตุผลความจำเป็นตามหลักวิศวกรรมและการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสร้างทาง และสิ่งจำเป็นตามโครงการโดยละเอียด ให้ได้ข้อยุติภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการเวนคืนต่อไป และจะต้องให้ที่ปรึกษาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ช่วยตรวจสอบความเป็นไปได้ด้วย

รื้อท่อน้ำมัน-สายไฟฟ้า กฟภ.

ขณะที่การรื้อท่อน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) จะย้ายจากฝั่งตะวันออกไปอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของเขตทางรถไฟ โดย FPT จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และต้องประสานงานกับ ร.ฟ.ท. เพื่อดำเนินการเรื่องรูปแบบการดันท่อลอดข้ามแนวเส้นทางต่อไป ซึ่งตรงจุดนี้บริษัทจะต้องทำรายงาน EIA เพิ่มเติม เพราะการวางท่อเดิมของบริษัทเกิดขึ้นก่อนที่จะมีกฎหมาย EIA

ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ 3 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไป สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะทำเรื่องของบสำนักงบประมาณ เพื่อขอจ้าง กฟภ.ดำเนินการในลักษณะ G to G ตามขั้นตอน

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า ซี.พี.ยังได้ส่งมอบกรมธรรม์สำหรับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ให้ ร.ฟ.ท.แล้วเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงการจ่ายค่าใช้สิทธิ์บริหาร 10,671 ล้านบาท แต่อย่างใด เช่นเดียวกับการเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ยังไม่มีกำหนดว่าจะเข้าพื้นที่เริ่มสร้างเมื่อใด

“ได้ให้แนวคิดไปว่า ไม่จำเป็นต้องให้การส่งมอบพื้นที่สมบูรณ์ 100% ถ้าส่วนใดพร้อมให้เริ่มเข้าพื้นที่ได้ทันที คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนดที่เคยทำแผนไว้ 3 ช่วง คือ 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ พร้อมส่งมอบทันที 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ส่งมอบใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. ส่งมอบใน 4 ปี จะเร่งใน 2 ปี 3 เดือน”

เวนคืน-ไล่ผู้บุกรุกจบปี’64

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมยังติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเวนคืนของ ร.ฟ.ท. โดย ร.ฟ.ท.ส่งหนังสือขอเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 50 หลังคาเรือน เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่เวนคืนทั้งหมดได้ในเดือน ม.ค. 2564 แต่หากมีกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้น คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้เดือน ต.ค. 2564

ส่วนการโยกย้ายผู้บุกรุก มีผู้บุกรุกรวม 1,352 หลัง แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บุกรุกที่กีดขวางแนวเส้นทาง 498 หลัง กลุ่มผู้บุกรุกที่อยู่ใกล้แนวเส้นทาง แต่ไม่กีดขวาง 417 หลัง และกลุ่มผู้บุกรุกใต้โครงสร้างของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่ไม่กีดขวางแนวเส้นทาง 437 หลังตามแผนงาน คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา ได้ก่อนในเดือน ก.ย. 2563 แต่หากมีฟ้องร้องเกิดขึ้น คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วได้ในช่วงเดือน ม.ค. 2564 แทน ขณะที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วได้ในเดือน ธ.ค. 2563 แต่ถ้าหากมีการฟ้องร้อง คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วได้ในเดือน เม.ย. 2564 นี้

ท่อน้ำมัน FPT ย้ายเสร็จปี’66

ขณะที่การย้ายท่อน้ำมันของ FPT มีการรายงานเพิ่มเติมว่า จะประสานงานกับที่ปรึกษาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (missing link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เพื่อกำหนดตำแหน่งวางท่อที่เหมาะสมต่อไป

โดยมีการวางไทม์ไลน์ไว้ จะสำรวจออกแบบแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำรายงาน EIA อีก 1 ปีคาดว่าจะเสร็จในเดือน มิ.ย. 2564 ก่อนจะเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีก 1 ปี และได้ตัวผู้รับจ้างเดือน มิ.ย. 2565 เพื่อเริ่มก่อสร้างการย้ายท่อน้ำมันซึ่งจะใช้เวลาอีก 1 ปี โดยรวมแล้วคาดว่าจะดำเนินการย้ายท่อเสร็จในเดือน มิ.ย. 2566 และส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน ก.ค. 2566

สาธารณูปโภคขวางอีก 10 จุด

นอกจากนี้ยังพบว่า โครงการนี้จะกระทบกับการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของ “กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ” ในเบื้องต้นมีทั้งสิ้น 10 จุด ได้แก่ 1.ภายในวิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี 2.ภายใน ซ.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร 3.ภายใน ซ.หนองจับเต่า 4.ภายใน ซ.สวนนงนุช 5.ภายใน ซ.เนินสามัคคี 6.ภายใน ซ.เนินสามัคคี-ห้วยตู้ 2 7.ภายใน ซ.โค้งวัดเพ็ญ-สวนลุงกลอน 8.ภายใน ซ.พลูตาหลวง 46 9.บริเวณเลยปั๊มน้ำมัน ปตท. เขาบายศรี ถ.331 และ 10.ภายใน ซ.พลูตาหลวง 37 รวมระยะเวลาที่จะดำเนินการประมาณ 6 เดือน มีกรอบวงเงินรวม 31.2 ล้านบาท

ได้แต่หวังว่าโครงการนี้จะไม่เกิด “มหากาพย์” เหมือนที่ผ่านมา