
“คมนาคม” ลุ้น ”ICAO” ประกาศผลมาตรฐานการบิน มิ.ย.นี้ “ศักดิ์สยาม” คาดได้ไม่ต่ำกว่า 55.7% เผยมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ต่อ 44 ข้อ ชี้ไม่จำเป็นต้องเร่งแก้ให้จบก่อนผลออก ทยอยทำได้ ด้าน “ผอ.การบินพลเรือน” เล็งเชิญ “FAA” ตรวจมาตรฐานต่อภายในปีนี้ เผยติดใจแค่เรื่องบุคลากรที่ทำการตรวจเครื่องบิน ไม่มีเหตุทำให้ติดธงแดง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 10 มี.ค.2563ได้ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เข้ามารายงานความคืบหน้าการตรวจมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ซึ่งได้เข้ามาตรวจที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 11 -21 ก.พ.ที่ผ่านมา เบื้องต้น คาดว่าน่าจะผ่านการประเมิน แต่ยังอยู่ระหว่างสรุปคะแนนอย่างเป็นทางการ
พบบกพร่อง 44 รายการ
การเข้ามาตรวจครั้งนี้ ICAO มีประเด็นสอบถามทั้งหมด 497 รายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีประเด็นคำถาม 480 รายการ โดยพบข้อบกพร่อง 44 รายการ น้อยกว่าปี 2560ที่มีข้อบกพร่อง 49 รายการ โดยการตรวจสอบมีขอบเขต 9 เรื่อง
ประกอบด้วย 1. การกำกับดูแลและรักษาระบบความปลอดภัยของประเทศ 2. การฝึกอบรมบุคลากรให้เป็นไปตามมาตรฐานของICAO 3. การควบคุมคุณภาพด้านต่างๆ 4. มาตรฐานของหลักปฏิบัติต่างๆในสนามบิน 5. การรักษาความปลอดภัยของอากาศยานและระหว่างทำการบิน
6. การรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารและสัมภาระ 7. การรักษาความปลอดภัยสินค้า ครัวการบิน และคาร์โก 8. การตอบสนองของการกระทำที่แทรกแซงที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือ การก่อการร้าย และ 9. การรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการบินพลเรือน ซึ่งสิ่งที่ ICAO เน้นย้ำให้ตรวจสอบเป็นพิเศษคือ เรื่อง การรักษาความปลอดภัยของสินค้า ครัวการบิน และคาร์โก
รู้ผล 21 มิ.ย.นี้
สำหรับผลการตรวจ ICAO ให้ทำการแก้ไข 44 รายการที่ยังบกพร่องอยู่ โดยมีไทม์ไลน์คือ ในอีก 30 วัน (21 เม.ย.) ICAO จะแจ้งผลคะแนนกลับมา และให้เวลาอีก 30 วัน (21 พ.ค.) เพื่อทำคำชี้แจงกลับมา จากนั้นอีก 30 วัน (21 มิ.ย.) ก็จะแจ้งผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการต่อไป กระทรวงก็คาดว่าน่าจะได้รับการประเมิน “ประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาบังคับใช้ในประเทศ ” ไม่ต่ำกว่าปี 2560 ที่ได้คะแนนที่ 55.7%
ไม่รีบแก้ข้อบกพร่อง 44 ข้อ
ส่วนข้อบกพร่อง 44 รายการ จะทยอยแก้ไขไป ไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขให้ทันก่อนที่ ICAO จะส่งผลกลับมา เพราะบางรายการต้องใช้เวลาแก้ไข เช่น การนำสิ่งเทียมอาวุธเข้าไปเพื่อทดสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยได้ติงมาว่า กฎหมายของไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับและคุ้มครองผู้ที่ดำเนินการทดสอบ
จึงต้องมีการออกระเบียบกฎหมายรองรับไว้ เพื่อคุ้มครองผู้เข้าไปทำการทดสอบ หรือการออกคู่มือในประเด็นต่างๆให้ชัดเจน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คาดว่า กพท.และสนามบินต่างๆจะสามารถพัฒนาระบบขึ้นมาให้เป็นไปตามสมาตรฐานของ ICAO
เชิญ ”การบินสหรัฐฯ” ตรวจต่อปีนี้
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ส่วนการเข้ามาตรวจขององค์การบริหารการบินแห่งชาติอเมริกา (FAA) คาดว่าจะเข้ามาภายหลังการตรวจสอบของ ICAO จบลง จะเป็นการเข้ามาตรวจในประเด็นความปลอดภัย (Safety) เป็นหลัก
โดยจะเชิญ FAA มาตรวจให้ได้ภายในปีนี้ ผลกระทบของการตรวจโดย FAA จะมีผลเพียงข้อเดียวคือ การเดินทางแบบบินตรงไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าหากประเทศไทยต้องการจะบินเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องผ่านมาตรฐานของ FAA ก่อน
ไม่ติดธงแดง
ซึ่งประเด็นที่จะตรวจเหลืออีก 20 ข้อ คาดว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ และจะเชิญ FAA มาตรวจสอบในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ไม่มีเหตุที่ทำให้ติดธงแดงอีกแล้ว เป็นเพียงการติดขัดในประเด็นเล็กๆน้อยๆ คือเรื่องบุคลากรตรวจสอบนักบิน
ทาง FAA มีข้อสังเกตว่า สัดส่วนของบุคลากรที่มีกับเครื่องบินที่ต้องตรวจสอบยังห่างกันมาก เพราะเครื่องบินที่ต้องทำการตรวจสอบมีเป็นจำนวนมาก แต่บุคลากรที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบมีไม่พอ ทางแก้ปัญหาคือการใช้วิธีจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) โดยจะจ้างนักบินของสายการบินต่างๆมาช่วยตรวจสอบ และได้รายงานให้ FAA รับทราบแล้ว