18 มี.ค. เจรจา “ปตท.-กัลฟ์-ไชน่าฮาร์เบอร์” อัพผลตอบแทนเกิน2หมื่นล้าน ปิดดีลแหลมฉบังเฟส 3

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในส่วนของท่าเรือ F ที่มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ประกอบด้วย บจ.นทลิน บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี่ บจ.พริม มารีน จบ.พีเอชเอส ออแกนิค และ บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

“สาเหตุไม่ผ่านคุณสมบัติเพราะกลุ่ม์ NCP ไม่ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ตามที่กำหนดไว้ใน RFP ถือว่าเป็นการผิดสาระสำคัญ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ยื่นรายอื่นและกลุ่ม NCP ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ลงนามในช่องที่กำหนด ถือเป็นความบกพร่องของกลุ่ม NCP”

เรือโทกมลศักดิ์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะเริ่มเจรจาซองที่ 4 ผลตอบแทนด้านการเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการคัดเลือกทั้งคุณสมบัติและด้านเทคนิคทุกประการ

โดยกลุ่ม GPC เสนอผลตอบแทนให้รัฐตลอดระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 12,051 ล้านบาท ยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 32,225 ล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 20,174 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเร่งเจรจาให้แล้วเสร็จ และให้รัฐได้ผลตอบแทนมากที่สุด

ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือฯ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพื่อเซ็นสัญญาต่อไป คาดว่าจะเป็นภายในเดือน พ.ค. ล่าช้าจากแผนงานของอีอีซีที่กำหนดไว้ภายในเดือน เม.ย.นี้เล็กน้อย เนื่องจากการเจรจาคงไม่จบภายในครั้งเดียว ขณะที่ร่างสัญญาได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

“ปัจจุบันโครงการมีความล่าช้าประมาณ 1 ปี จากการร้องเรียนการประมูล ทั้งนี้หากการเจรจาเป็นไปด้วยดี ทางเอกชนสามารถอัพผลตอบแทนให้รัฐได้ใกล้เคียงกับที่ ครม.อนุมัติไว้ หากทุกอย่างเดินหน้า คาดว่าแหลมฉบังเฟส 3 จะเปิดบริการได้ปลายปี 2566“

ด้านเรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า มีความเชื่อมั่นว่าการเจรจากับกลุ่ม GPC อย่างเป็นทางการน่าจะได้ผลตอบแทนให้รัฐเพิ่มขึ้นอีกจากเดิมที่เสนอมา 12,051 ล้านบาท น่าจะมากกว่า 20,000 ล้านบาท

“การที่เอกชนเสนอผลตอบแทนให้รัฐต่ำ เพราะประมาณการรายได้จากการขนส่งสินค้าต่ำกว่าที่บริษัทที่ปรึกษาเราประเมินไว้ โดยเอกชนประเมินไว้ 1-2% แต่ที่ปรึกษาปรับเมินไว้ 3-5%”

เรือโทยุทธนากล่าวว่า ปัจจุบันแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังเดินหน้าตามแผนงานโครงการ ซึ่งการคัดเลือกเอกชนรับสัมปทานบริหารท่าเรือ หลังเซ็นสัญญาทางกลุ่ม GPC แล้ว จะใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท เตรียมการก่อสร้างและบริหารท่าเรือ เป็นระยะเวลา 2 ปี เช่น ถมคอนกรีต สร้างท่าเรือ ติดตั้งระบบบริหาร ซื้อเครื่องมือและจ้างคนมาบริหารจัดการ และเริ่มสัมปทานในปีที่ 3 พร้อมจ่ายค่าผลตอบแทนให้รัฐเป็นต้นไป

นอกจากนี้อยู่ระหว่างขายทีโออาร์ประมูลขุดลอกถมทะเล วงเงิน 22,000 ล้านบาท จะเปิดให้ยื่นซองประมูลวันที่ 7 พ.ค.นี้ จากนั้นเป็นโครงการก่อสร้างถนน สะพาน อาคารภายในโครงการอีก 6,700 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนราคาของกลุ่ม NCP เสนอพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ที่ 27,360 ล้านบาท