ประมูลพื้นที่”รถไฟสายสีแดง” แจกสัมปทานรายเดียว 13สถานี 10ปีรวด

บอร์ดอนุมัติ 1.1 หมื่นล้าน เพิ่มค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงทะลุ 1.1 แสนล้าน รื้อแผนบริหารสถานีกลางบางซื่อ สั่งเปิดประมูลให้เอกชนรายเดียวเหมาทุกกิจกรรม ทั้ง 13 สถานี จูงใจเอกชนลงทุน แลกค่าตอบแทนให้รัฐ ระยะเวลาสัญญาจ้าง คาดไม่ต่ำกว่า 10 ปีต่อสัญญาเช่าที่ดิน 3 แปลง 5,035 ล้าน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. วันที่ 19 มี.ค. 2563 อนุมัติขยายกรอบวงเงินก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ให้อีกประมาณ 11,000 ล้านบาท (รวม VAT 7%) รวมเบ็ดเสร็จทั้งโครงการจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 110,000 ล้านบาท หลังจากนี้จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้เร็วที่สุด เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าก่อสร้างให้ผู้รับเหมาต่อไป ซึ่งงานก่อสร้างจะเสร็จ เม.ย. ส่วนงานระบบจะเสร็จ มิ.ย.นี้ จากนั้นเริ่มทดสอบและพร้อมเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564

“การเปิดบริการคงเป็นเฉพาะการเดินรถ ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งสถานีกลางบางซื่อและสถานีในเส้นทางคงไม่ทันเพราะบอร์ดต้องการให้เอกชนเข้ามาพัฒนาและบริหารพื้นที่ระยะยาว เพื่อดึงคนมาใช้บริการและสร้างรายได้ให้กับโครงการ อยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษา”

นายวรวุฒิกล่าวว่า การที่บอร์ดให้เปิดประมูลหากเอกชนมาดำเนินการแทน ร.ฟ.ท. เนื่องจากการบริหารพื้นที่สถานีมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่รายรับไม่มาก โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อมีขนาดใหญ่มีพื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตร.ม. จากผลการศึกษาจะขาดทุน 5 ปีแรกเป็นเงินหลาย 100 ล้านบาท ทางบอร์ดจึงให้เอกชนรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้การลงทุนของเอกชนคุ้มค่า

ทางบอร์ดให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาโมเดลให้เอกชนรายเดียวบริหารพื้นที่ทั้ง 13 สถานีตลอดเส้นทางจากตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ได้แก่ สถานีตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อนบางซื่อ จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก และรังสิต จากเดิมจะมีแค่สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต จะเสนอคอนเซ็ปต์ให้บอร์ดพิจารณาวันที่ 1 เม.ย.นี้

“รูปแบบจะเปิดประมูลให้เอกชนรายเดียวเหมาบริหารพื้นที่ระยะยาว ทุกกิจกรรม ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ ป้ายโฆษณา ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัยทำความสะอาด โดยเอกชนจะต้องดีไซน์รูปแบบ สามารถแบ่งเช่าเป็นรายกิจกรรมก็ได้ ซึ่งที่ปรึกษากำลังทำรายละเอียดเงื่อนไขการลงทุน ส่วนแบ่งรายได้และระยะเวลาสัญญากี่ปีถึงจะคุ้มการลงทุน คาดว่าอย่างน้อยต้อง 10 ปีขึ้นไป โดยเอกชนจะมีรายได้จากให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และป้ายโฆษณา และแบ่งตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.ตามที่ตกลงกัน จะเร่งให้ได้เอกชนภายในปีนี้”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า บอร์ดยังอนุมัติต่อสัญญาเช่าที่ดินอีก 3 แปลง รวมมูลค่า 5,035 ล้านบาท ได้แก่1.ที่ดินย่านสถานีสุไหงโก-ลก พื้นที่ 9 ไร่ ต่อสัญญาให้ บจ.เจริญกิจสุไหงโก-ลก ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ 2561-2581 จ่ายค่าตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.จำนวน 32 ล้านบาท

2.ที่ดินริม ถ.รัชดาภิเษกแปลงที่ 101-108 พื้นที่ 7 ไร่ ต่อสัญญาให้กับ บจ.ไทยวิวัฒน์เคหะ ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ 2565-2585 จ่ายค่าตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.จำนวน 83 ล้านบาท และ 3.ที่ดินริม ถ.รัชดาภิเษกแปลงที่ 64-74 (โครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาฯ) พื้นที่ 9 ไร่ ต่อสัญญาให้กับ บจ.แบงค็อกไนท์บาซาร์ ระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 2562-2592 จ่ายค่าตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.จำนวน 5,000 ล้านบาท หลังจากนี้จะเซ็นสัญญากับผู้เช่าทั้ง 3 รายเพื่อจ่ายค่าเช่างวดแรกต่อไป