จัดคิวประมูลรถไฟฟ้าสายใหม่3แสนล. “ศักดิ์สยาม” จีบเกาหลีสร้างสีส้ม-อุโมงค์ทางด่วน

สนข.ฉายภาพรถไฟฟ้า 10 สาย จ่อพัฒนาฟีดเดอร์ป้อน เผยเปิดบริการครบ ลดปัญหาการจราจร รถไฟฟ้าสายใหม่เข้าคิวประมูลกว่า 3.3 แสนล้าน พ.ค.นี้ รฟม.ขายทีโออาร์ร่วมทุน PPP สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ดันสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะให้จบปีนี้ หลังสำนักงบประมาณไฟเขียวค่าเวนคืน 1.5 หมื่นล้านแล้ว ร.ฟ.ท.ลั่น มิ.ย.ขายแบบประมูลสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ส่วน Missing Link รอ ซี.พี.เคาะแบบอุโมงค์ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน “ศักดิ์สยาม” จีบเกาหลีใต้ชิงสายสีส้ม ศึกษาอุโมงค์สารพัดประโยชน์รองรับรถไฟฟ้า ทางด่วนและฟลัดเวย์น้ำ

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 10 สายทาง รวม 464 กม. ภาครัฐจะต้องพัฒนารถไฟฟ้าให้ครบตามแผน ปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 4 สายทาง รวม 123.80 กม. หรือประมาณ 25% มีสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์

เร่งครบ 10 สาย-ผุดฟีดเดอร์

กำลังก่อสร้างอีก 7 สายทาง รวม 178.76 กม. จะทยอยเปิดบริการทุก ๆ ปีนับจากปี 2563 ได้แก่ สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต สีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต สีชมพูแคราย-มีนบุรี สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่เหลืออีก 6 สายทาง รวม 121.99 กม. อยู่ระหว่างเร่งรัดเตรียมการประมูล เช่น สีส้มบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น

“หากดำเนินการได้ครบ จะเป็นทางเลือกการเดินทางของประชาชน จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีการจัดระบบฟีดเดอร์ให้เชื่อมต่อกับสถานี เพื่อจูงใจคนมาใช้บริการ ในปีนี้ สนข.จะศึกษาระบบฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้าทุกสายให้เกิดการเดินทางและโครงข่ายสมบูรณ์แบบ เช่น สถานีรังสิตของสายสีแดง จะต้องมีฟีดเดอร์จากรังสิต-องครักษ์ เพื่อป้อนคนเข้าสถานีรถไฟฟ้า นอกจากจะทำให้คนเดินทางสะดวกแล้ว ยังทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีกด้วย”

สถานีสายสีส้ม – รถไฟฟ้าสายสีส้มมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ สร้างผ่าเมืองเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯที่กำลังเดินหน้าก่อสร้าง มีทั้งสถานีใต้ดินและยกระดับ ในภาพเป็นการจำลองสถานีใต้ดินย่านประตูน้ำและศิริราช หลังเปิดรถไฟฟ้าและมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานี ดึงคนใช้บริการ จะทำให้บรรยากาศคึกคัก

รฟม.กดปุ่มสีส้ม-สีม่วงใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีรถไฟฟ้าที่กำลังจะเปิดประมูลในปีนี้ คิดเป็นวงเงินรวม 335,323 ล้านบาท โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ รฟม.จะเปิดประมูลรถไฟฟ้า 2 สายทางให้แล้วเสร็จ เพื่อเริ่มงานเวนคืนและก่อสร้างในปี 2564

ได้แก่ สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากมีนบุรี-บางขุนนนท์ ระยะเวลา 30 ปี วงเงินลงทุน 142,789 ล้านบาท (รวมค่าเวนคืน 14,600 ล้านบาท) ขณะนี้รอทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสหกิจ (สคร.) เสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาอนุมัติออกประกาศตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ก่อน รฟม.ถึงจะออกประกาศประชาพิจารณ์ร่างทีโออาร์ประมูลได้ แต่คาดว่าจะเปิดขายซองประมูลเดือน พ.ค. และได้ผู้รับเหมาและเซ็นสัญญาในเดือน พ.ย.นี้

“สายสีส้มเปิดประมูลนานาชาติ ผู้รับเหมาไทยและต่างชาติสามารถจอยต์เวนเจอร์กันมายื่นประมูลได้ ซึ่งผู้ยื่นซองต้องมีผลงานสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ TBM มูลค่า 1,000 ล้านบาท วางราง มูลค่า 1,000 ล้านบาท ติดตั้งระบบและจัดหาระบบไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น”

กลางปี’67 เปิดส้มตะวันออก

สำหรับภาพรวมของสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 56.86% เร็วกว่าแผน 2.57% คาดว่างานโยธาจะเสร็จในปี 2565 ส่วนการเปิดบริการจะเป็นกลางปี 2567 ล่าช้าจากเดิมกำหนดในปี 2566 จากความล่าช้าของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ส่วนช่วงตะวันตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ตามแผนจะสร้างเสร็จเปิดบริการในปี 2570 มีผู้โดยสารตลอดสายประมาณ 4 แสนเที่ยวคนต่อวัน

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 124,959 ล้านบาท จะเร่งประมูลภายในปีนี้เช่นกัน ล่าสุดสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณ 15,913 ล้านบาท สำหรับจ่ายค่าเวนคืนแล้ว หลังจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

ขณะที่การเดินรถ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ได้รูปแบบ PPP แล้ว เป็น PPP gross cost ระยะเวลา 30 ปี เหมือนสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ที่จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถให้ เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง และต้องใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงที่คลองบางไผ่ร่วมกัน นอกจากนี้หากเป็นเอกชนรายเดียวกับสีม่วงปัจจุบันจะยิ่งทำให้ต้นทุนการบริหารโครงการลดลงได้อีกด้วย

“การประมูลแบ่ง 7 สัญญา มีงานใต้ดิน 4 สัญญา ยกระดับ 1 สัญญา เดโป้และอาคารจอดรถ 1 สัญญา งานวางราง 1 สัญญา”

มิ.ย.รถไฟประมูลสีแดงต่อขยาย

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้จะเปิดประมูลรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202 ล้านบาท และช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,570 ล้านบาท จากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2566

ส่วนสายสีแดง Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 44,158 ล้านบาท อยู่ระหว่างยืนยันแบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่ม ซี.พี. เนื่องจาก ซี.พี.จะต้องลงทุนก่อสร้างส่วนงานอุโมงค์ให้ก่อน เพราะใช้เส้นทางร่วมกัน หากได้ข้อสรุปจะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเปิดประมูลต่อไป โดยจะเร่งให้ทันภายในปีนี้

“รถไฟฟ้าสายสีแดงถือว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การเดินทางในรัศมี 100 กม. จากกรุงเทพฯ หากสร้างเสร็จครบโครงข่ายจะเชื่อมการเดินทางครอบคลุมทั้งโซนเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก มีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทาง”

จีบ “โสมขาว” ร่วมทุนสายสีส้ม

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ได้หารือร่วมกับนายลี อุก ฮอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย หากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดน้อยลงจนสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว

จะนำประเด็นที่เคยลงนามความร่วมมือ (MOC) ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ที่ได้เดินทางไปลงนามเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อศึกษาการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศเบื้องต้น ทางทูตเกาหลีใต้ก็ให้ความสนใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุน 142,789 ล้าน จึงได้เชิญชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย

เนื่องจากโครงการจะเปิดประมูลแบบนานาชาติ แต่บังคับให้ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (local content) อย่างน้อย 50% เท่านั้น ซึ่งก็ได้รับไว้พิจารณาแล้ว และยังขอให้ช่วยศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ที่มีทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า และทางระบายน้ำ (floodway) ในประเทศไทยจะสามารถก่อสร้างได้หรือไม่ และพื้นที่ไหนเหมาะสมที่สุด