คิกออฟ “ระบบตั๋วร่วม 2020” มิ.ย.ไร้รอยต่อ “BTS-MRT” “แอร์พอร์ตลิงก์-สายสีแดง” ปลุกไม่ขึ้น

ผ่านมาร่วม 10 ปียังคงเป็นโปรเจ็กต์ “ก้าวทีละก้าว” สำหรับการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในประเทศไทย แม้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม จะบัญชาให้ “ระบบรถไฟฟ้าสารพัดสี” ที่กำลังเปิดบริการในปัจจุบัน 3 ระบบ มีผู้ถือบัตรของแต่ละระบบรวม 14.6 ล้านคน

ให้ไปสู่เป้าหมายใช้บัตรโดยสารใบเดียวนั่งได้ทุกระบบเหมือนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสายสีน้ำเงินมี “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพ และมี “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ

สายสีเขียวหรือบีทีเอส มี “กทม.-กรุงเทพมหานคร” เป็นเจ้าภาพ โดยมี “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” รับสัมปทานเดินรถทั้งโครงการ

และแอร์พอร์ตลิงก์ มี “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นเจ้าของโครงการและบริหารงานโดยบริษัทลูก “บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.” เป็นผู้รับจ้างเดินรถ

งานนี้มี “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันดันโครงการในฝันให้เป็นจริง นำร่องจาก “ระบบตั๋วต่อ” โดยเดดไลน์ในเดือน มิ.ย.นี้ ทุกระบบจะต้องใช้บัตรโดยสารแตะข้ามระบบกันได้แบบไร้รอยต่อ

แม้จะประกาศเปรี้ยงออกไปแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาอุปสรรคแต่ละระบบยังแก้ไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว โดยเฉพาะ “แอร์พอร์ตลิงก์” ภายใต้ปีกรถไฟไทย ยังทดสอบระบบให้รองรับระบบตั๋วร่วมไม่เสร็จซักที ทั้งที่ผ่านมา 11 เดือนแล้ว

BTS-BEM ติดข้อตกลงธุรกิจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (บอร์ดตั๋วร่วม) วันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนของ BTS และ BEM กับ รฟม.ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและผู้ที่จะต้องรับผิดชอบปรับปรุงระบบให้เชื่อมต่อกันได้

“เบื้องต้น BTS มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบและดำเนินงาน 120 ล้านบาท ส่วน BEM และ รฟม. อยู่ที่ 225.4 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมให้ทั้งสองหน่วยงานออกค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบดังกล่าวเอง”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อตกลงทางธุรกิจ มีข้อสรุปร่วมกันหลายประเด็น เช่น การออกบัตรโดยสาร ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละระบบ หรือการอยู่ในระบบรถไฟฟ้า ในส่วนของ BTS กำหนดไว้ที่ 5 ชั่วโมง ส่วน BEM อยู่ที่ 3 ชั่วโมง ที่ประชุมได้กำหนดให้เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมของแต่ละระบบ เช่นเดียวกับการคำนวณค่าโดยสารที่ยังให้เป็นไปตามระดับราคาของแต่ละระบบรถไฟฟ้า เป็นต้น

แต่มีประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกัน คือ การใช้บัตรข้ามระบบแต่ในบัตรมีเงินไม่พอ ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องจำนวนเงินที่อนุญาตให้ติดลบ และมูลค่าขั้นต่ำเพื่อเข้าใช้งานระบบ ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งสรุปข้อตกลงทางธุรกิจของทั้ง BTS และ BEM รายงานให้บอร์ดตั๋วร่วมรับทราบต่อไป

ARL ยังวุ่นพัฒนาระบบ

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า น่ากังวลคือระบบแอร์พอร์ตลิงก์ หลังจ้าง บจ.สมาร์ท เทคโนโลยี ทดสอบระบบที่ลงทุน 105 ล้านบาท อัพเกรดใหม่ให้รับกับระบบตั๋วร่วมแมงมุมหรือตั๋วระบบอื่นได้ แต่จากการทดสอบระบบทั้ง 3 ครั้ง ยังทดสอบได้ไม่ครบถ้วนตามขอบเขตงาน อีกทั้งผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนด

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจรับมองว่า ควรยกเลิกสัญญาและนำเงิน 105 ล้านบาทไปพัฒนาระบบเอง แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรพิจารณาให้รอบคอบโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องในภายหลัง และให้พิจารณาอย่างรอบคอบว่า หากยกเลิกสัญญาแล้วจะพัฒนาระบบเองหรือจ้างใหม่ ซึ่งขอให้เร่งดำเนินการเร็วที่สุด

ยังมีข้อสงสัยในความชัดเจนข้อกำหนดทางธุรกิจเปิดให้บัตรแมงมุมและบัตร MRT Plus เข้ามาใช้ในระบบ โดยเฉพาะการเติมเงินที่แอร์พอร์ตลิงก์ยังสงสัยจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น การซื้อบัตรแมงมุม ใบละ 80 บาท (ไม่รวม VAT 7%) การอบรมพนักงาน และนำส่งรายได้ให้ ร.ฟ.ท. จะลดลงหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีรายละเอียด หารือกับ ร.ฟ.ท.ในฐานะผู้ถือหุ้น 100% ต่อไปจึงจะเสนอบอร์ดตั๋วร่วม

สายสีแดงรอเปลี่ยนเป็น EMV

ส่วนรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564 ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ทาง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างรอผลสรุปการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรฐานของระบบ โดยเฉพาะข้อกำหนดทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนกุญแจรหัสบัตรระหว่างบัตร Rabbit และ MRT Plus เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้วจะนำไปเจรจากับผู้รับเหมาของโครงการต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบกับกำหนดการเปิดบริการที่วางไว้ โดย ร.ฟ.ท.จะปรับระบบภายหลัง

แต่ที่ประชุมให้ ร.ฟ.ท.นำระบบ MRT Plus มาใช้เลย ให้การเชื่อมต่อระบบเกิดขึ้นได้เร็ว แต่ ร.ฟ.ท.ชี้แจงว่ามาตรฐานที่ ร.ฟ.ท.พัฒนาอยู่ไม่ใช่มาตรฐานของ MRT Plus และขออัพเกรดเป็น EMV อาจจะทำให้การเชื่อมต่อสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายอื่นล่าช้าไปอย่างน้อย 2 ปี นับจากวันที่สายสีแดงเปิดบริการ

เซ็น MOU ตั๋วร่วม 27 มี.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ดตั๋วร่วม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) วันที่ 27 มี.ค. มีศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน การลงนามจะมี 5 หน่วยงานร่วมลงนาม ประกอบด้วย สนข. รฟม. กทม. BEM และ BTS โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยลงนามในฐานะพยาน

สาระสำคัญ MOU คือ 1.รฟม. กทม. BEM และ BTS ต้องร่วมกันลงทุนและพัฒนาการเชื่อมต่อระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) และระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) ให้ใช้บัตรแมงมุม, MRT Plus และ Rabbit 2.ทั้ง 4 หน่วยต้องให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคนิคและบริหารจัดการเท่าที่จำเป็น ต้องไม่ขัดกับข้อตกลงทางธุรกิจที่มีระหว่างกัน และ 3.สนข.จะเป็นผู้ทำงาน ในคณะทำงานร่วมพิจารณาแนวทางปฏิบัติและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน

บอร์ด รฟม.เบรกกรุงไทย EMV

ส่วนการพัฒนาระบบ EMV แหล่งข่าวระบุว่า รฟม.ได้รายงานว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.มีมติให้ทบทวนการเสนอให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาระบบ ให้เปรียบเทียบกับข้อเสนอของธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งรัฐและเอกชน และให้ รฟม.เร่งพัฒนาการเชื่อมระบบรถไฟฟ้าให้ทันกำหนด มิ.ย.นี้ก่อน


ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าของการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ขณะนี้อยู่ระหว่างได้เสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามขั้นตอน ขณะนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังดูระเบียบดังกล่าว อีกทางหนึ่งก็ได้ส่งร่างระเบียบดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้เร็ว ๆ นี้