“คมนาคม” เข้ม “เว้นระยะห่าง-กรอกใบต.8” ยับยั้งคนเดินทางทุกโหมดผู้โดยสารลดลงเรื่อยๆ

“คมนาคม”รับไม้ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้มตรวจคัดกรองทุกโหมด “บก -ราง -น้ำ -อากาศ” เน้นมาตรการ” Social Distancing-กรอกแบบฟอร์มต.8-วัดอุณหภูมิไม่เกิน 37.5” พร้อมปรับการใช้งบปี 63 ขณะที่ตัวเลขผู้โดยสารลดทุกโหมด ยังพบผู้ติดเชื้อน้อย
เมื่อ‪เวลา 14.00 น.‬ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมกันแถลงข่าวมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงคมนาคม
โดยนายศักดิ์สยามกล่าวว่า หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) กระทรวงคมนาคมได้ทำแผนป้องกันการแพร่ระบาดเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปม. โดยครอบคลุมการขนส่งทั้ง 4 มิติคือ บก ราง น้ำ อากาศ ประกอบด้วย
1.การคัดกรองประชาชนที่เดินทางจาก 4 ช่องทางดังกล่าวด้วยความปลอดภัยและเกิดความมั่นใจในการเดินทาง โดยจะใช้หลักการ Social Distancing ให้ยืนห่างกัน 1-2 เมตร และให้คัดกรองการเข้าอาคารผู้โดยสารทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และอื่นๆของบุคคลต่างๆที่ครอบคลุมการเดินทางทั้ง 4 มิติดังกล่าว โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาในระบบต้องมีอุณหภูมิร่างกายไม่สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หากตรวจพบจะส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามมาตรการต่อไป
นอกจากนี้จะมีการยืนยันตัวบุคคลในระหว่างเดินทาง โดยทราบว่า ศปม.ได้ตั้งจุดคัดกรองประชาชนตามด่านต่างๆทั่วประเทศแล้วโดยจากการประสานงานจึงให้ใช้แบบฟอร์ม ต.8 ของกระทรวงสาธารณสุขในการกรอกข้อมูลการเดินทางไปก่อน ส่วนการเดินทางเข้าประเทศ ในขณะนี้อนุญาตเฉพาะผู้ทีมีสัญชาติไทยก่อน โดยจะต้องมีใบรับรองแพทย์แบบ Fit to Fly ประกอบด้วย ส่วนชาวต่างชาติจะยังไม่ให้เข้าประเทศในขณะนี้
2. การอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยจะขยายการต่อใบอนุญาตต่างๆ เช่น ใบขับขี่ ต่อทะเบียนยานพาหนะต่างๆ โดยให้ขยายไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
“ส่วนการปรับเปลี่ยนงบประมาณปี 2563 มาใช้ในการดำเนินการของศูนย์ ศปม.นั้น หากจำเป็นต้องปรับลดก็ไม่มีปัญหา เพราะเรื่องสุขภาพของประชาชนสำคัญที่สุด”
ประสาน”สาธารณสุข”ออกแบบฟอร์มเดินทางข้ามจังหวัด
ด้านนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดการคัดกรองมี 6 ขั้นตอนคือ 1. คัดกรองประชาชนผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีพนักงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เล็ดลอดออกไปบ้าง ต่อไปนี้จะต้องตรวจอย่างเข้มข้นขึ้น
2. ผู้โดยสารก่อนเข้าอาคารต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองต่างๆก่อน 3. การเข้าสู่ยานพาหนะต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ เครื่องบิน กำหนดให้เว้นระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร
4. เมื่อถึงปลายทางแล้ว จะต้องตรวจซ้ำอีกรอบ เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีไข้สูงและต้องกรอกใบต.8 ในการกรอกเอกสารไปก่อน โดยกำลังประสานกระทรวงสาธารณสุข ออกแบบฟอร์มการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อใช้ในการอ้างอิงได้ รวมถึงรูปแบบการพัฒนาแอพลิเคชันที่ใช้แทนกระดาษให้เกิดความสะดวกต่อผู้โดยสารและการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายประชากร
5. เมื่อพบผู้ป่วย จะต้องดำเนินการตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงประชาสัมพันธ์ถึงการดูแลสุขอนามัยของผู้โดยสารทั้งการสวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือ และมีใบต.8 ในการเดินทางตรวจสอบ โดยทุกหน่วยงานต้องรายงานผลให้กระทรวงทราบทุกวัน
ผ่านคัดกรองอื้อ
ส่วนมาตรการป้องกันโรค ทางอากาศ ได้ออกประกาศของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)และในพื้นที่ของสนามบินมีการกำหนดระยะปลอดภัยไว้แล้ว อีกทั้งมีการใช้เครื่องเทอร์โมสแกนในการตรวจจับอุณหภูมิ ถ้าตรวจเจอก็จะดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข
โดยตัวเลขการคัดกรองผู้โดยสารภายใต้สนามบินของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ตั้งแต่ 7 ก.พ. – 26มี.ค.ที่ผ่านมา ตรวจไปแล้ว 6,151,694 คน ผ่านการคัดกรอง 6,151,553 คน และไม่ผ่านการคัดกรอง 141 คน
ส่วนสนามบินของ กรมทา่าอากาศยาน(ทย.) ข้อมูลตั้งแต่ 28 ม.ค. – 26 มี.ค. ตรวจคัดกรองไปแล้ว 743,694 คน ผ่านการคัดกรอง 743, 685 คน และไม่ผ่าน 9 คน
ขณะที่ข้อมูลการเดินทางทางอากาศจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง นับตั้งแต่ 1-26 มี.ค. มีผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) 760,598 คน ผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) 765,172 คน รวมมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางออกจาก กทม.ทั้งหมด 1,525,770 คน
เน้นเว้นระยะห่าง-กรอกใบต.8
ขณะที่มาตรการทางบก ได้จัดให้ผู้โดยสารนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และจะต้องจัดที่นั่งพักคอยโดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรเช่นกัน โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ออกประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
หลักการสำคัญคือ ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างกัน และต้องกรอกใบต.8 ขณะที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กำชับให้รถโดยสารทุกประเภทจัดที่นั่งให้เว้นระยะห่างกัน 1-2 เมตร โดยบขส.ได้เก็บข้อมูลการเดินทางทางบกในช่วง 1-26 มี.ค. พบว่ามีปริมาณเที่ยวรถ 130,000 เที่ยว คิดเป็นจำนวนผู้โดยสาร 1,917,108 คน
ด้านการขนส่งทางราง ให้ใช้มาตรการ Social Distancing เช่นกัน โดย รฟม. ผู้ให้บริการเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและม่วง จัดขบวนรถเสริมในช่วงเร่งด่วนมากขึ้น
นอกจากนั้นกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกประกาศบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใช้งานรถไฟฟ้า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และต้องมีแบบ ต.8 เพื่อกรอกข้อมูลติดตามตัวได้ โดยข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระหว่าง 1 – 26 มี.ค. มีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางออกจาก กทม. 412,942 คน
ส่วนมาตรการทางน้ำ การขึ้นลงเรือเว้นระยะห่างกัน 2 เมตร ให้นั่งแบบเว้นระยะห่างเท่านั้น ต้องไม่มีการยืนบนเรือเด็ดขาด ส่วนบนท่าเรือต้องมีเจ้าหน้าที่วัดอุณหภูมิผู้โดยสารด้วย และผู้ที่มาติดต่อราชการกับกรมเจ้าท่า (จท.) ต้องนั่งห่างกัน 1.2 เมตรเป็นอย่างน้อย
สำหรับข้อมูลผู้โดยสารทางเรือระหว่างวันที่ 17-26 มี.ค. มีผู้โดยสารทั้งหมด 137,339 คน ไม่ผ่านการคัดกรองเพียง 1 คน ส่วนผู้โดยสารบริเวณด่านพรมแดนมีจำนวน 22,008 คน ไม่พบผู้ไม่ผ่าน แบ่งเป็นสัญชาติไทย 6,650 คน และสัญชาติอื่น 15,358 คน
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากรวบรวมตัวเลขผู้ที่เดินทางจากกทม.ไปยังต่างจังหวัดในทุกโหมดการเดินทาง พบว่ามีอัตราลดลงเรื่อยๆ แปลว่า การใช้มาตรการเดินทางที่เข้มงวด ทำให้ช่วยยับยั้งการเดินทางของผู้โดยสารลงโดยการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ ทางอากาศ ราง ถนน ระหว่างวันที่ 21-26 มี.ค.มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 364,765 คน