รับสร้างบ้านท้ารบไวรัสเจาะนิชมาร์เก็ต-ต่างจังหวัด

รับสร้างบ้าน

ธุรกิจรับสร้างบ้านเข้าสู่ยุคสร้างดาวคนละดวง “ซีคอน-รอแยลเฮ้าส์” รีโมเดลแผนธุรกิจหันจับตลาดกลาง-ล่างเจาะลูกค้าตลาดแมส “พีดี เฮ้าส์” เล็งเจาะลูกค้าข้าราชการรอเกษียณ ชี้โอกาสเติบโตสูง-กำเงินสดสร้างบ้าน 90%

ซีคอนเฟ้นลูกค้า 3-6 ล้าน

นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทก้าวสู่ปีที่ 60 เรื่องใหม่ปีนี้มีการรีแบรนดิ้ง “ซีคอนโฮม” เป็น “ซีคอน” ควบคู่กับเปิดเบอร์โทร. 4 ตัวหลัก “1391” อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าจดจำง่าย รวมทั้งจัดแคมเปญ “ซีคอน พรีวิเลจ” ร่วมกับพันธมิตรเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง 10 แบรนด์ดัง มอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้กับลูกค้าซีคอน

อาทิ ส่วนลดจากแบรนด์โมเดอร์นฟอร์ม, เอสบี, แกรนด์โฮม, บุญถาวร, แอร์ไดกิ้น, ผ้าม่านไอเคอร์เทน, อีเลคโทรลักซ์, เครื่องกรองน้ำและเครื่องฟอกอากาศโคเวย์ เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการปี 2562 ซีคอนมีรายได้รวม 1,480 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 สัดส่วน 12% ของมูลค่าตลาดรวม 12,500 ล้านบาท เติบโต 5% จากปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 12,000 ล้านบาท แผนลงทุนปี 2563 ตั้งเป้ารายได้ 1,480 ล้านบาท เติบโตทรงตัว ปัจจุบันมีศูนย์รับสร้างบ้านซีคอน 4 ศูนย์หลักที่รามอินทรา, บางแค, แจ้งวัฒนะ, งามวงศ์วาน

ฐานลูกค้าหลักมากสุดเป็นลูกค้าสร้างบ้านราคา 3-6 ล้านบาท, รองลงมากลุ่มราคา 6-10 ล้านบาท และกลุ่มราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ในขณะที่ซีคอนมีแบบบ้านให้เลือก 200 แบบบ้าน ครอบคลุมกลุ่มราคา 2-35 ล้านบาทพฤติกรรมผู้บริโภค ณ ปี 2558-2562 ลูกค้าสร้างบ้านด้วยเงินสด 78% ขอสินเชื่อ 22% เฉพาะปี 2562 ได้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคมีการปรับตัวโดยขอสินเชื่อเพิ่มสัดส่วนเป็น 33% ใช้เงินสดเหลือ 67% เหตุผลเพราะสถาบันการเงินให้เครดิตไลน์ลูกค้ามากขึ้น ก็เลยใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น

“บริษัทมียอดขายในพื้นที่ต่างจังหวัด 100 กว่าล้าน สัดส่วน 10% พื้นที่หลักอยู่ในภาคตะวันออก เขตพื้นที่ EEC กลยุทธ์ยังใช้ศูนย์หลักในกรุงเทพฯรองรับพื้นที่การตลาดในต่างจังหวัด

รอแยลเฮ้าส์เน้นเจาะคนรุ่นใหม่

นายโกศล โควิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด เผยว่า ปี 2562 มีรายได้ 900 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่ทำรายได้ 1,120 ล้านบาท ปี 2563 ตั้งเป้ายอดขาย 1,000 ล้านบาท เติบโต 10%

ทั้งนี้ รายได้ 900 ล้านบาทในปีที่แล้วมาจากการสร้างบ้านในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 70 หลัง มูลค่า 760 ล้านบาท สัดส่วน 84% ต่างจังหวัด 23 หลัง 140 ล้านบาท สัดส่วน 16% ส่วนใหญ่เป็นบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท 33 หลัง มูลค่า 180 ล้านบาท ราคา 5-10 ล้านบาท 33 หลัง 238 ล้านบาท โดยบ้านแพงที่สุดราคาเกิน 100 ล้านบาท

กลุ่มลูกค้า 77% มูลค่า 690 ล้านบาท สร้างบ้านด้วยเงินสดอีก 23% มูลค่า 210 ล้านบาท สร้างบ้านด้วยการขอสินเชื่อขณะที่ดาต้าเบส 5 ปีก่อนลูกค้าหลักอายุ 50 ปี รองลงมาอายุ 40-49 ปี ในระยะหลังกลุ่ม new Gen อายุ 25-39 ปี ที่ต้องการขยายครอบครัวของตัวเอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รอแยลเฮ้าส์จึงหันมาสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้นในช่วง 2 ปี ล่าสุดนำเสนอแบบบ้านนิวซีรีส์ในธีม “โมเดิร์นมินิมอลลิสม์” ราคา 3-5 ล้านบาท 4 แบบบ้าน ฟังก์ชั่น 2-4 ห้องนอน 2-5 ห้องน้ำ 2-3 ที่จอดรถ พื้นที่ใช้สอย 136-423 ตารางเมตร

“รอแยลเฮ้าส์ตอบรับกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ green product เช่น การใช้คานกับเสาสำเร็จรูปของ CPAC ลดการเกิดฝุ่นหรือการผสมวัสดุเกินในพื้นที่ก่อสร้างได้ ช่วยลดต้นทุนและผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงเริ่มศึกษาโปรแกรม revit สร้างแบบจำลองข้อมูลอาคาร หรือ BIM ในการออกแบบเพื่อลดความเสียหายและการสูญเสียต้นทุนโดยไม่จำเป็น ส่วนค่าก่อสร้างตามปกติจะปรับราคาทุก 2-3 ปีตามกลไกตลาดและค่าแรง แต่ปีนี้ไม่มีการปรับราคาเพิ่ม ทำให้ปัจจุบันค่าก่อสร้างเฉลี่ย 20,000 บาท/ตารางเมตรในทุกเซ็กเมนต์”

ปัจจุบันมี 12 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 7 สาขา ต่างจังหวัด 5 สาขา ได้แก่ ชลบุรี นครปฐม สระบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี

พีดีเฮ้าส์ฯเจาะ ขรก.เกษียณ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการ บริษัท พีดีเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 มีรายได้ 1,000 ล้านบาท แผนธุรกิจปี 2563 ตั้งเป้ารายได้เท่าเดิมเนื่องจากรับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อชะลอตัวเพราะไม่มีความเชื่อมั่น ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมไม่ฟื้นตัว ล่าสุดเจอวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ยังไม่มีปัจจัยบวกอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนมากนัก

ปัจจุบันพีดีเฮ้าส์ฯมี 25 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นสาขาบริษัท 11 สาขา, แฟรนไชส์ร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น 8 สาขา, ผู้ลงทุนรายอื่น 6 สาขา ส่วนพื้นที่ให้บริการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 4 สาขา พื้นที่ต่างจังหวัดกระจายอยู่ในภาคเหนือ, ภาคใต้, ภาคกลาง อย่างละ 4 สาขา ภาคอีสาน 9 สาขา โดยรับสร้างบ้านตั้งแต่ 2-20 ล้านบาท แต่กลุ่มรายได้หลักมาจากการสร้างบ้านราคา 3-6 ล้านบาท รองลงมา 6-10 ล้านบาท

โดยฐานลูกค้าหลักมีอายุ 30-50 ปี ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ อีกกลุ่มที่น่าสนใจมาก คือ ลูกค้าข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมเตรียมสร้างบ้านก่อนเกษียณ 5-10 ปี เพราะเมื่อถึงตอนนั้นต้องย้ายออกจากบ้านพักของรัฐบาล ต้องหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมลูกค้าข้าราชการเตรียมตัวเกษียณมีความต้องการบ้านพักสำหรับ 2 คนตายาย ไม่ต้องการขนาดใหญ่มาก ถ้าสร้างบ้านในเขต กทม.-ปริมณฑลมักเป็นแบบ 2 ชั้น ส่วนในต่างจังหวัดเน้นสร้างบ้านเดี่ยวชั้นเดียวเนื่องจากต้นทุนที่ดินถูกกว่า เน้นขนาดกะทัดรัดหลังเล็กราคา 2-3 ล้านบาท สร้างบนที่ดิน 50-80 ตารางวา ตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 100-150 ตารางเมตร

กำลังซื้อล่ำซำ-เงินสด 90% อัพ

ฟังก์ชั่นสำคัญ คือ ต้องมีห้องพระและแบบบ้านยูนิเวอร์แซลดีไซน์ซึ่งต้องทำเผื่อไว้เลย เช่น อุปกรณ์ช่วยพยุงสำหรับผู้สูงวัย ราวจับ โถสุขภัณฑ์เตี้ยกว่าปกติ 5-10 เซนติเมตร เพื่อลดความลำบากในการลุกนั่ง พื้นปูด้วยวัสดุกันกระแทก ระดับพื้นห้องน้ำราบเรียบเท่ากันสำหรับวีลแชร์และป้องกันการสะดุด บานประตูขยายจาก 70 เซนติเมตร เป็น 90 เซนติเมตร ห้องน้ำต้องมีหน้ากว้างอย่างน้อย 2 เมตรขึ้นไป มีไฟสว่างส่องพื้น-รอบเตียงหรือใต้เตียง ติดตั้งหน้าต่าง 2 บาน 2 ด้านเพื่อให้อากาศถ่ายเท ความสูงบานหน้าต่างลดระดับเหลือ 90-70 เซนติเมตรเพื่อให้ใช้งานง่าย เป็นต้น

ที่น่าสนใจ คือ เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมสร้างบ้านด้วยเงินสด 90% ขึ้นไป เนื่องจากมีการเก็บออมเงินมาแล้วทั้งชีวิต เมื่อสูงวัยแล้วไม่ต้องการเป็นหนี้ รวมทั้งสำรวจพบว่าแม้เป็นข้าราชการส่วนกลางทำงานในกรุงเทพฯ แต่ในวัยเกษียณมีความต้องการสร้างบ้านพักอาศัยในต่างจังหวัดหรือไปอยู่ในจังหวัดปริมณฑลเพราะที่ดินถูกกว่า อาทิ ชานเมืองกรุงเทพฯ หนองจอก นนทบุรี ปทุมธานี ฯลฯ

“ลูกค้ากลุ่มข้าราชการเกษียณเขาจะศึกษามาก่อนว่าวัสดุใช้อย่างไร เคยสร้างที่ไหนมา มีแบบบ้านที่เขาสนใจเบื้องต้น หลังจากนั้น ถึงจะ walk-in เข้ามาพีดีเฮ้าส์ฯ วันนี้ฐานลูกค้าถือว่าไม่สูง แต่เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดปี 2561 มีออร์เดอร์สร้างบ้านให้ลูกค้ากลุ่มนี้ 20-30 หลัง วางแผนเรื่องการใช้งบฯสร้างบ้านล่วงหน้า เน้นควบคุมไม่ให้งบฯบานปลายใช้เหตุผลมากกว่าความสวยและความหรูหรา ฉะนั้น ทุกอย่างที่จะเพิ่มหรือจ่ายเพิ่มก็ต้องมีเหตุผลนำ” นายสิทธิพรกล่าว