รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ เคลียร์ปมนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รอศึกษา 6 เดือนชี้ลากรางรถไฟ

รัฐมนตรีคมนาคมลงพื้นที่ ตัดสินนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ขอสนับสนุนระบบรางรถไฟ จ่อศูนย์กระจายสินค้าอีสาตตอนบน ห่างจากแผนสร้างศูนย์รับส่งสินค้าการถไฟ 1.8 กม. ย้ำสองแห่งเอื้อประโยชน์กัน ไม่ขัดข้องแต่ต้องรอศึกษา 6 เดือน

เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 23 กันยายน ที่สถานีรถไฟหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พร้อมนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย , นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการสภาหอการค้าไทย (อดีตประธานหอการค้าอุดรธานี) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางดูสภาพข้อเท็จจริง แผนการก่อสร้างคอนเทเนอร์ยาร์ด(CY) ของการรถไฟ และการขอรับการสนับสนุนการรถไฟ สร้างศูนย์กระจายสินค้าอีสานตอนบน (DC) ของการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่ห่างออกไป 1.8 กม.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า การรถไฟวางแผนไว้ให้สถานีรถไฟหนองตะไก้ เป็น CY หรือศูนย์ขนถ่ายสินค้า โดยขณะนี้สินค้าจากอุดรธานี ไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้นตามละดับ สินค้าหลักตอนนี้คือยางพารา ในอนาคตก็คงจะมีโพแทชด้วย ขณะที่ภาคเอกชนอุดรธานี ลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างทำโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจังหวัดอุดรธานีก็ได้หารือกันว่า จะนำเอารถไฟเข้าไปขนสินค้าภายในได้อย่างไร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า บริเวณสถานีรถไฟหนองตะไก้ มีพื้นที่เพียงพอในการขนถ่ายสินค้า ขึ้นรถไฟไปที่โรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก หรือลงท่าเรือไปที่แหลมฉบัง หรือมาบตาพุด ซึ่งการขนส่งก็จะมีมากขึ้น ก็อยู่ระหว่างการศึกษา ขณะได้ขอให้การรถไฟฯศึกษาเพิ่มเติมกับ 2 โครงการ ที่ต้องผ่านสถานีรถไฟหนองตะไก้ คือ รถไฟทางคู่ขนส่งสินค้า-ผู้โดยสาร จะเป็นสถานีจอดรถไฟรางคู่ ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะเป็นสถานีผ่าน ไปจอดที่สถานีอุดรธานี

ผู้สื่อข่าวถามว่า การสร้าง CY ของการรถไฟ และยังมีเอกชนสร้าง DC ห่างออกไปไม่ไกล จะดำเนินการอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ทั้งสองแห่งจะเป็นการสนับสนุนกัน เพราะสินค้าบางส่วนอาจะไม่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยหลักแล้วเพื่อจะลดต้นทุนการขนส่ง รถไฟมีค่าใช้จ่ายต่ำรองจากเรือ เมื่อรถไฟไปขนส่งค้าในนิคมฯ ก็ไม่ต้องนำรถไปขนออกมา ซึ่ง CY ของการรถไฟอยู่ระหว่างศึกษา สร้างควบคู่ไปกับรถไฟทางคู่ ที่จะเสนอ ครม. ในปีนี้

รมว.คมนาคม ตอบข้อซักถามความชัดเจนของการรถไฟกับ DC ของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ด้วยว่า จะต้องดูผลของการศึกษา เพราะการลงทุนมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น รถไฟสร้างรางเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรม หรือนิคมอุตสาหกรรมฯลงทุนระบบรางภายใน ต่อเชื่อมมาทางหลักของการรถไฟ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้จังหวัดอุดรธานี รับเป็นเจ้าภาพในงานนี้คาดว่าจะเสร็จใน 6 เดือน อยู่ที่ปริมาณของสินค้าที่ต้องขนส่ง หากสินค้ามากรถไฟลงทุนเอง หากก่ำกึ่งนิคมอุตสาหกรรมอาจจะยอมรับความเสี่ยง ในหลักการการถไฟไม่ขัดข้องอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรอ.อุดรธานี และ กรองกลุ่มอีสานตอนบนที่ 1 ได้สนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมี DC มีด่านศุลกากร โดยมีแผนใช้งบยุทธศาสตร์ปรับปรุงถนน เชื่อมถนนมิตรภาพ กับถนนนิตโย ระยะทาง 11.5 กม.ในปี 61 ขณะที่การหารือของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กับการรถไฟล่าสุด การรถไฟยืนยันการศึกษาให้สอดคล้องกับรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ส่วนทางรถไฟให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีลงทุน 42 ล้านบาท โดยสามารถนำมาหักกับค่าระวางรถไฟได้ และจะต้องลงทุนมีหัวรถจักรตนเอง (35-40ล้านบาท)

 

ที่มา มติชนออนไลน์