‘เกาหลี’ สน ร่วมมือไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน-อีอีซี

แฟ้มภาพ

ครม. รับทราบผลการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ณ สาธารณรัฐเกาหลี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (นางคิม ฮยอน-มี) เมื่อวันที่ 21- 23 ก.พ. 63 ณ สาธารณรัฐเกาหลี มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.ฝ่ายเกาหลีจะขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายไทยในการพิจารณาภาคเอกชน ของเกาหลีที่มีศักยภาพเพื่อร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2.ฝ่ายไทยกล่าวถึงแนวทางการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ โลจิสติกส์ของไทยที่มีการขับเคลื่อนภารกิจในหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ EEC และการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งฝ่ายไทยจะแจ้งความคืบหน้า โครงการต่าง ๆ ให้ฝ่ายเกาหลีทราบต่อไป

3.ฝ่ายเกาหลีขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายไทยในการคัดเลือกเจ้าภาพจัดการ ประชุมระดับนานาชาติฯ ในปี ๖๘ ณ เมืองคังนึง เกาหลี – ฝ่ายไทยได้ตอบรับและยินดีให้การสนับสนุนและขอเชิญผู้แทนฝ่ายเกาหลี เยือนไทยในโอกาสต่อไป

4.การทดสอบพัฒนาผลิตภัณฑ์ RFB การทดสอบรับแรง กระแทกของคอนกรีต แบริเออร์หุ้มยางพารา ( Rubber Fender Barrier : RFB) มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ สามารถ รับแรงกระแทกได้ดีและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ซึ่งการต่อยอดในการพัฒนา RFB จะช่วยสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกร สวนยางพาราโดยการนำยางพารามาใช้ในโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน และในอนาคต ทางกระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะลงนาม MOU กับ กระทรวงเกษตร เพื่อรับรอง การผลิตและจำหน่าย RFB จากเกษตรกรชาวสวนยางให้แก่ภาครัฐโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

5.ศูนย์ควบคุมจราจรของเกาหลีสามารถแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดบนทางด่วน แบบ 360 องศา และมีการติดเซนเซอร์ภายใต้พื้นผิวจราจร เพื่อเก็บข้อมูล ความหนาแน่นของสภาพการจราจรทั่วไปแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำ เทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินภารกิจเพื่อลดงบประมาณรายจ่าย ด้านบุคลากรและสนับสนุนในการบริหารจัดการปัญหาจราจร

6.ระบบจัดเก็บ ค่าผ่านทางพิเศษ แบบ Hi-Pass Multi – Lane Free Flow (MLFF) ของเกาหลี (คล้ายกับระบบ Easy Pass ของไทย) มีการติดตั้ง อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณไว้บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางและไม่มีไม้กั้น ดังนั้น ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องลดความเร็วเมื่อผ่านช่อง MLFF ซึ่งระบบประมวลผล จะไม่บันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนในกรณีที่ผู้ใช้บริการเปลี่ยนช่องจราจร และช่วยลด การเกิดอุบัติเหตุได้อย่างดี