คู่มือใช้ชีวิตในตึกสูง “จรัญ เกษร” MD นิติบุคคลค่ายอนันดาฯ ติวมนุษย์คอนโดฯวิธีอยู่ร่วมกับโควิด-19

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป

ไตรมาส 1/63 บนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยแนวสูงอย่างคอนโดมิเนียม ที่ถูกปลุกกระแสความสนใจจากกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกสั่ง “ปิดคอนโดฯ” เป็นเวลา 14 วัน (25 มีนาคม-8 เมษายน 2563) เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อหญิงรายแรกของจังหวัด และพักอาศัยในคอนโดมิเนียมดังกล่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พี่จรัญ เกษร” Managing Director of Strategic Property Management บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนักบริหารนิติบุคคลอาคารชุดระดับแถวหน้าของเมืองไทย ผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียม หรือที่เรียกกันว่ามนุษย์คอนโด มีข้อตระหนักเพื่อไม่ตระหนกอะไรได้บ้าง

Q : วิธีบริหารนิติฯเพื่อรับมือไวรัส

อนันดาฯ alert กับไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 เพราะประเมินแล้วว่ามีการระบาดใหญ่แน่นอน เราก็ต้องมาดูว่า 40 โครงการที่เราบริหารนิติบุคคล แบ่งเป็นอนันดาฯบริหารเอง 30 โครงการ พันธมิตรธุรกิจอีก 10 โครงการ ทุกคนมีคำถามแน่นอนว่าจะต้องทำตัวอย่างไร

เราจัดระยะให้เองเลย (เจ้าของร่วม) แต่ละคนคือมีหน้าที่เดินเข้าประตู ขับรถมาจอดแล้วเข้าบ้าน-ขึ้นไปที่บ้านตัวเอง เส้นทางผ่านจุดที่เป็นจุดผ่านร่วมทั้งหมดทำความสะอาดรายครึ่งชั่วโมง-รายชั่วโมง ทุกเดือนมีพ่นน้ำยาในพื้นที่ส่วนกลาง อันนี้เป็นแนวปฏิบัติปกติที่เราทำในพื้นที่ส่วนกลางเป็นหลัก

เรามีสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่จะคอยถามไถ่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม ตอนที่มีประกาศผู้ป่วยโควิด 4 ประเทศ 8 ประเทศ 10 ประเทศ เราก็ขออัพเดตข้อมูลชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่กับเรา ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ถูกประกาศขึ้นมา แล้วก็คอยตรวจเช็กดูว่าเส้นทางการเข้าออกของเขาเป็นปกติวิสัยไหมในการพักอาศัย หรือมีการเดินทางไป-มา เพื่อจะได้เช็ก record และ aware ว่าขอพูดคุยหน่อยได้ไหมว่าคุณไปไหนมา แล้วก็ประกาศให้ทราบด้วยว่าต้องแจ้งให้เราทราบตามประกาศของราชการ

ถ้าเขาเดินทางไปประเทศที่ถูกประกาศไว้ (ประเทศเสี่ยง) ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนั้น เกิดขึ้น คำตอบคือมี ก็ขอให้เข้าสู่กระบวนการเก็บตัว เราไม่อยากกักแต่ขอให้เขาเก็บตัวในห้องของเขา ขอความร่วมมือ แล้วเขาก็ให้ความร่วมมือดี ในพื้นที่ที่เราดูแลเขา บางคนก็บอกเพิ่งกลับมาจากฝรั่งเศส ตอนนี้ผ่านอังกฤษ ผ่านอะไรมา ผมขอเก็บตัวนะ เราก็จะอำนวยความสะดวก เขาก็อยู่แต่ในห้องเขาแล้วก็มีคนช่วย

ซึ่งนอกเหนือจากกายภาพ เราก็ให้ทีมงานยกหูไปพูดคุยทักทายวันละไม่ต่ำกว่า 1-2 ครั้ง เป็นอย่างไร ต้องการอะไร มีไข้ไหม จะวัดไข้ไหม ซึ่งก็เป็นการพูดคุยเพื่อที่จะให้ไม่รู้สึกเหงา ซึ่งก็ไม่เหงาอยู่แล้ว เพราะยุคนี้มีเทคโนโลยีอะไรเยอะแยะมากมายที่จะทำให้ชีวิตเขาไม่ลำบากยากเย็น นั่นคือเก็บตัวจนกระทั่งถึงครบกำหนด ถ้าคอนเฟิร์มแล้วเขาก็ใช้ชีวิตตามปกติ

Q : แนวทางการบริหารจัดการ

ผมจัดระเบียบการดูแลเป็นโมเดล “เซ็นเตอร์-เทียร์ 1-เทียร์ 2” เพื่อความเข้าใจง่ายที่สุด โดยผู้ติดเชื้อโควิดก็คือเซ็นเตอร์ ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว คนที่เราต้องดูแลคือกลุ่มคนเทียร์ 1 ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับเซ็นเตอร์ (ผู้ติดเชื้อ) จุดเน้นคือกลุ่มคนเทียร์ 1 ถ้ารู้ตัวก็ต้องขอความร่วมมือกักตัวเอง 14 วันในห้อง

โมเดลคัดกรองกลุ่มเทียร์ 1 คือ track เวลาถอยหลังกลับไป 14 วัน นับเริ่มตั้งแต่วันที่ไปตรวจโควิด ในช่วง 14 วันถอยหลังพฤติกรรมเป็นอย่างไร เส้นทางเป็นอย่างไร พบปะเจอะเจอใครบ้าง พอเขาแจ้งเราเสร็จ เขาต้องไปโรงพยาบาล เรา (นิติบุคคล) track กลับได้หมดเลยว่า 7 วันถอยหลัง 14 วันถอยหลังมีที่ไหนในอาคารบ้าง แล้วก็บิ๊กคลีนนิ่งตามเส้นทางที่ดูแล้วมีความใกล้ชิดกับเขา (ผู้ติดเชื้อ)

เช่น ห้องออกกำลังกาย ในช่วง 7 วันที่ track แล้วตัวเอง (ผู้ติดเชื้อ) ไปรู้เอาวันที่ 7 เราก็ถอยเวลากลับไป 6 วัน 7 วัน 10 วันยังไปเล่นอยู่ กลุ่มเครื่องไม้เครื่องมือในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นเทียร์ 1 ใครมาแตะต้อง เราถือว่าคุณต้องดูแลตัวเองแล้ว คุณมีโอกาสแล้ว คนที่อยู่ในวันเดียวกันที่อยู่กับเขา เราถือเป็นเทียร์ 1 ทันที ถึงแม้จะไม่ได้พูดคุยด้วยก็ตาม เราก็ถือว่าในบรรยากาศที่อยู่ในห้องร่วมกันเป็นชั่วโมง ใช้เครื่องไม้เครื่องมือสลับสับเปลี่ยนกันไปอย่างนี้ กลุ่มนั้นเราถือเป็นเทียร์ 1 หมด

Q : เทียร์ 2 ต้องกักตัว 14 วันหรือไม่

ไม่ต้องกักตัว 14 วันครับ ประเด็นนี้ผมต้องอธิบายอยู่ตลอดเวลา นิยามเทียร์ 1 คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับเซ็นเตอร์ ถัดมาคนที่เคยสัมผัสพูดคุยกับเทียร์ 1 ในระหว่าง 14 วันที่ track ถอยหลังเรานิยามว่าเป็นเทียร์ที่ 2 คนพวกนี้ก็ยกระดับการระวังตนเอง นอกเหนือจากกินร้อน ช้อนกู ถูสบู่ อยู่ห่างไกลแล้ว ก็ต้องพูดถึงแมสก์ที่ต้องใส่ตลอดเวลา พูดถึงการล้างมือที่ต้องมีความถี่ ก็แค่พูดคุยถามไถ่ มอนิเตอร์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามลิสต์รายชื่อที่เรามี เพื่อจะให้อยู่ในสภาพที่ทุกคนรู้สึก aware ตัวเอง แล้วเราดูแลตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่เป็นผลต่อเนื่องไปถึงคนอื่น

Q : โมเดลรับมือโควิดมาจากไหน

เราฟังจากทางการแพทย์ที่เขาเป็น information เราก็ดูแล้วประมวลตามเรื่องราวที่กรมควบคุมโรคเคยมีประกาศมีอะไรออกมาว่า ถ้าคนที่อยู่ใกล้ขนาดไหนต้องดูแลอย่างไร ต้องเก็บตัวไหม เก็บตัวเนื่องจากอะไร คือระดับประเทศ ทั้งประเทศตอนนี้มันกินร้อน ช้อนกู ถูสบู่ แล้วก็อยู่ห่างไกลอยู่แล้ว เป็นกลุ่มคนกลุ่มนั้น

แต่เมื่อก่อนตอนเรานิยามคนกลุ่มเทียร์ 2 เมื่อก่อนบ้านเรายังไม่ masky กันตลอดเวลา แต่วันนี้เราต้อง masky คือต้องใส่แมสก์กันตลอดเวลาแล้ว เวลาเข้าไปตามชุมชนอะไรต่าง ๆ วันนี้เรากำหนดเทียร์ 2 ที่ต้องเฝ้าระวัง ขอให้ใส่แมสก์ตลอดเวลาที่ออกจากบ้านตัวเอง ซึ่งเป็นกลุ่มเทียร์ 2 ที่นอกเหนือจากกินร้อน ช้อนกู ถูสบู่ อยู่ห่างไกลแล้ว คุณจะต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา พยายามอย่างยิ่งเลยที่จะไม่ไปร่วมชุมนุมอะไรกับใครทั้งนั้น แล้วก็มีการมอนิเตอร์ แล้วก็ถามไถ่ยกหูไปพูดคุยว่า เป็นอย่างไร จะให้ช่วยอะไรไหม มีอาการอะไรหรือเปล่า ต้องไปหาหมอไหม ก็ว่ากันไปตามสถานภาพที่สามารถดูแลกันได้

Q : ตั้งงบฯค่าใช้จ่ายเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์

ค่าเฉลี่ยกลางที่เยอะที่สุด คือ ค่าจ้างแรงงาน ที่ต้องใช้เป็นพิเศษ ทำเพิ่มตามรอบ หรือตามความหนาแน่นของผู้คนที่อยู่ในชุมชน ทีนี้อาจจะต้องจ้างคนพิเศษเข้ามาในแง่ของการทำความสะอาดจ้างเสริมเป็นบุคคล 1-2 คน ในช่วงเวลาต่อวันแล้วแต่ขนาดพื้นที่ส่วนกลาง แต่ตอนนี้ในพื้นที่ส่วนกลางในแง่สันทนาการเราก็ขอปิดแล้ว กำลังคนก็ถอยจากตรงนั้น เราก็ใช้แม่บ้านไปทำความสะอาดปกติได้แล้ว สาระสำคัญ คือ เรื่องพ่นยาที่มีทุกเดือน บางที่ (โครงการ) ก็ขอทุก 2 อาทิตย์ ครั้งหนึ่งตก 4,000-5,000 บาท

ซึ่งจริง ๆ ค่าพ่นยาฆ่าเชื้อมีค่าใช้จ่ายที่เขาชาร์จกันอยู่ตอนนี้อยู่ที่ 3,000-7,000 บาท แล้วแต่ขนาดพื้นที่ส่วนกลาง เฉลี่ย 10 บาทบวกลบต่อตารางเมตร ถ้าขนาดใหญ่ก็อาจเหลือ 6-7 บาท ถ้าส่วนกลางขนาดเล็ก พื้นที่น้อยก็จะขึ้นไปถึง 10 บาทบวก ๆ ต้องไปดูความสลับซับซ้อนของพื้นที่ และขึ้นกับความถี่ด้วย ปกติเราก็ทำเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เราดูแลกันอยู่

ต้องเรียนว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบในแง่การดูแลของแต่ละนิติบุคคลอยู่แล้ว เป็นงบประมาณที่ขอแจ้งพิเศษจากคณะกรรมการ และก็แจ้งประกาศให้เจ้าของร่วมทราบว่า เรามีงบฯป้องกันดูแลที่ไม่ได้อยู่ในแผนตั้งแต่เริ่มต้น ฉะนั้นก็ต้องขอเพิ่มเข้ามา เป็นงบฯจัดการเร่งด่วน

ทุกนิติบุคคลก็ไม่มีประเด็นอะไร ทุกคนก็ให้ความร่วมมือดี

ในสภาพที่สังคมโดยรอบมันเป็นแบบนี้ ทุกคนเข้าใจ ก็ต้องร่วมกันดูแล เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องนี้มันเป็นเรื่อง self-treatment มาก ๆ ทุกคนต้องดูแลตัวเอง ระวังตัวเอง ป้องกันตัวเอง ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่ทะเล่อทะล่า ไม่ชะล่าใจ

Q : พื้นที่ส่วนกลางต้องทำยังไง

พื้นที่ส่วนกลางที่เป็นจุดสัมผัสก็ปิดความเสี่ยงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ห้องโซเชียล ห้องมีตติ้ง ห้องอะไรพวกนี้ก็ขอปิดหมด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ในลิฟต์ก็เสี่ยง ถ้าเกิดว่าคนไปอยู่รวมกันเยอะ ๆ ถูกไหม… ในพื้นที่ที่คนไปชุมนุมกัน ไม่ได้รู้จักกันหรอก ชุมชนหายใจร่วมกันอยู่ในห้องอับ ๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

แต่โควิด-19 ดีอยู่อย่าง มันต้องใช้เวลาพอสมควร ไปอยู่แวบ ๆ มันคงไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยง เราก็ต้อง treat มัน อะไรที่ขอหยุดได้ก็ขอหยุด อะไรที่จำเป็นต้องใช้บริการก็เพิ่มการดูแลเข้าไป

มีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ระบบฟิงเกอร์สแกนต่าง ๆ (นิติบุคคลหลายแห่งนำมาใช้ป้องกันการนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวัน) ตอนนี้เราก็ขอกลับมาใช้เป็นคีย์การ์ด ให้แต่ละคน tag ตัวเอง โดยที่ไม่ต้องใช้อวัยวะหรือมีสารคัดหลั่งของตัวเองไปสัมผัสกับเครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่าง ๆ นอกจากนี้ โดยพื้นฐานเราก็เพิ่มจุดวางแอลกอฮอล์ในพื้นที่ทางเข้าออกหลัก เช่น ลิฟต์ นอกจากทำความสะอาดแล้วก็มีแอลกอฮอล์ไว้ให้ เป็นเชิง protection ให้ก่อนเลย แล้วแม่บ้านก็เข้าไปทำความสะอาดตามหลังในรอบครึ่งชั่วโมง-1 ชั่วโมง ตามที่กำหนดกัน

มีคำถามบ้างเหมือนกัน พื้นที่ส่วนกลาง อาทิ ล็อบบี้ สโมสรที่มีเพดานสูง 5-6 เมตร ดูแลป้องกันโควิดยากไหม ? คำตอบคือไม่เกี่ยวเลย ดูแลไม่ยากเลย ในทางกลับกัน อะไรก็ตามที่โปร่งโล่ง อากาศไม่อบ ไม่หมัก ยิ่งดี เพราะโล่งแล้วมีการระบายอากาศมากเท่าไร ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น

Q : ปิดจุดอ่อนโควิดได้หมดหรือยัง

ในความรับผิดชอบที่เป็นอยู่ เราปิดได้หมด อาจมีบางพื้นที่ที่อาจจะช้าหน่อยเร็วหน่อย แต่คือระนาบนี้มันเป็นการเรียนรู้ร่วมไปกับสังคมที่ขยับตัวเอง ดังนั้น เรื่องนี้ถ้าทำตั้งแต่มกราคมก็อาจจะถูกมองว่าเราเว่อร์ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าคอนโดมิเนียมเมื่อเทียบกับหมู่บ้านจัดสรรมีความเสี่ยงมากกว่าในแง่กายภาพของตัวเอง ฉะนั้น เราก็ค่อย ๆ เริ่มจากเดือนมกราคมที่ยังมี (ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย) ไม่กี่คน สถิติยังนิ่งอยู่เลย เราค่อย ๆ เริ่มใส่แอลกอฮอล์เจล เริ่มใส่ตัวประกาศเข้าไปให้แต่ละคนค่อย ๆ รับรู้ขึ้นมา แล้วก็เพิ่มระดับ ยกระดับตามสถานการณ์

Q : มาตรการเข้มสูงสุด

พนักงานนิติบุคคลในตอนนี้ถือเป็นทัพหน้าเกือบ 300 คน เฉลี่ย 10 คน/โครงการ อนันดาฯเพิ่มการทำประกันเฉพาะโควิด-19 อย่างเดียว วงเงินคุ้มครอง 1 แสนบาท ทำให้ทุกคน เสริมให้เลยจากประกันสุขภาพที่เรามีอยู่แล้ว ในแผนประกันสุขภาพ ประกันชีวิต

ต้องบอกว่าวันนี้ต้องเตรียมอันที่ 1 ต้องสลับสับเปลี่ยนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเราไม่รู้ว่ารัฐบาลจะปิด-เปิดตรงไหน จะใช้อย่างไร เวลาจะเข้าจะออกอย่างไร เพราะในนิติบุคคลอาคารชุดที่เป็นคอนโดมิเนียมตึกมันต้องมีชีวิตตลอดเวลา ยิ่งผู้คนบอกว่าต้อง WFH-work from home นั่นหมายถึงในอาคารมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น ดังนั้น ตัวซัพพอร์ตหรือสนับสนุนที่เคยวิ่งตามปกติก็ต้องถูกเฝ้ามองให้ไม่รั่ว ไม่ดีเฟกต์ ทีมที่มีอยู่ก็ต้องเตรียมตัวด้วยความพร้อม จัดทีม จัดกะ รวมไปถึงเรามองว่าถ้าถูกยกระดับจากแผนฉุกเฉินไปเป็นล็อกดาวน์หมดเลย เราต้องเตรียมคนของเราอย่างไร สลับกันอย่างไร เดินทางอย่างไร ต้องมีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สำรอง ไปจนถึงการโยกย้ายตัวฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ

พฤติกรรมปกติคนทำงานตอนกลางวันกลับมานอนตอนกลางคืน แต่โควิดทำให้กลางวันและกลางคืนในอาคารคนแน่นเอี้ยดเลยตอนนี้ ทุกอย่างถูกประเมินหมดแล้วว่ากลางวันกลางคืนเราจะเป็นอย่างไร จุดเข้าจุดออกจะเป็นอย่างไร จุดที่ไม่เคยเป็นแล้วมันจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเตรียมตัวรับมือ มีการประชุมวางแผน ก็ต้องเรียนรู้กันไปเรื่อย ๆ

Q : พนักงานนิติมี WFH หรือไม่

มีครับ นิยามง่าย ๆ เราแยกเป็นทีมเอ-ทีมบี ในช่วงปกติก็สลับกับสับเปลี่ยนกันในงานที่จำเป็น หมายถึงว่าหมุนให้ครบถ้วนและให้รอบด้านในวิกฤตที่เกิด แต่ถ้าสถานการณ์วิ่งไปถึงล็อกดาวน์จริง ๆ เราก็มองกันว่าทีมสแตนด์บายอย่างน้อยต้องมีทีมช่าง เพราะการที่จะทำให้ตึกมีชีวิตอยู่ได้ คนที่ดูแลหลังบ้าน คือ preventive maintenance, safety และ cleaning 3 เรื่องหลักที่เป็นเรื่องใหญ่

เรื่องอื่น ๆ เป็นเอกสารเดี๋ยวนี้ออนไลน์กันหมดแล้ว จ่ายเงินก็จ่ายออนไลน์ ถามอะไรก็สั่งออนไลน์หมด งานที่เคยดูแลในห้องชุดที่เราบริการไปดูแลนู่นนิดนี่หน่อยให้ ก็ต้องของดไปบ้าง ยกเว้นเป็น emergency case จริง ๆ แต่งานซ่อมแซมต่าง ๆ ช่วงนี้ถ้าไม่ได้กระทบกระเทือนกับการดำเนินชีวิตก็ต้องของดไว้ก่อน รอให้สถานการณ์คลี่คลาย เราไม่อยากจะให้ (พนักงาน) ไปปะทะเจอะเจอ (เจ้าของร่วม) เขาก็มีความเสี่ยง เราก็มีความเสี่ยงร่วมกัน

ภารกิจสำคัญนับจากวันนี้ไป มีอีกเรื่องหนึ่งสำหรับนิติบุคคลนั่นคือการมอนิเตอร์ เป็นเรื่องอัพเดต เป็นเรื่องที่ต้องไปให้กำลังใจกัน เป็นเรื่องผู้คนนั่นแหละ โฟกัสในแง่ของการต้องเข้าไปดูแล เพราะเข้าใจว่ารอบนี้มันจะยาวพอสมควร

Q : ทุกวันนี้ไซต์ก่อสร้างยังเปิดอยู่ไหม

ยังเปิดอยู่ ก็พยายามจะจัด พยายามทำให้ระยะแตกต่างตามข้อกำหนดที่สามารถทำได้ที่สุด …จะหยุดไปทั้งหมดเลยคงจะไม่ดีมั้ง (ยิ้ม) ก็ต้องช่วยกัน แต่เราจะทำมาตรการไหนทำอย่างไรให้มันเหมาะสมที่สุด แล้วก็ดูแลทีมงาน ลูกน้องเราต้องดูแลเป็นพิเศษ เราเตรียมทีมของเราตอนนี้ มาถึงวันนี้ระดับที่เข้าสู่แผนฉุกเฉินของภาครัฐ ของเราเองเราก็มี BCP-business continuity plan เป็นลักษณะการเตรียมความพร้อมในแง่ของทีมงาน ดูแลคนก่อน เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวกับคน ผลกระทบที่เกิดจากคนแล้วก็ขยายไปสู่คนได้ด้วย ดังนั้นต้องดูแลที่ตัวคนก่อน

สิ่งที่เหลือก็จะเป็นเรื่องพื้นที่ เราก็ต้องเตรียมพื้นที่สำรองเพื่อให้ธุรกิจต้องเดินหน้าไปได้ ถ้าเกิดเราไปตระหนกตกใจแล้วก็ไปหยุดทุกอย่างก็ไม่ใช่อีก ธุรกิจก็ต้องเดินไปไม่อย่างนั้นมันจะวุ่นวายหนักกว่านี้ ในขณะที่ธุรกิจต้องเดิน คนที่ต้องทำงานเราก็มีแนวป้องกันแนวสนับสนุนเขาอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน อันนี้เป็นสาระสำคัญ

Q : จะถอดบทเรียนโควิด-19 เพื่อนำไปสู่การดีไซน์คอนโดฯในอนาคตอย่างไร

อันนั้นจะเป็นดีเทลหลังจากที่เหตุการณ์มันจบลง ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการเก็บข้อมูลทั้งหมด แต่ถามว่าการเก็บข้อมูลทั้งหมดสืบเนื่องจากเหตุที่เกิด สิ่งที่เป็น สิ่งที่เราทำอยู่ ถามว่าวันนี้ (คอนโดฯ) ตั้งแต่ทำมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีประเด็น sig-nificantly ขึ้นมาในเชิงดีไซน์ตรงไหนที่ทำให้เราติดขัดอะไรตรงไหน

Q : การรับมือโควิด-19 ไม่ยาก

มันไม่ยาก คือจะมีประเด็นแค่เฉพาะว่าเรามองเห็นเทคโนโลยีที่เราปรับเปลี่ยน เมื่อก่อนเราใช้ประตูเปิดประตูปิดแล้วก็ใช้คีย์การ์ดแอ็กเซส เป็นเทคโนโลยีเบื้องต้น ระยะหลัง ๆ ก็เอาเป็นนิ้วแล้วกัน (ระบบฟิงเกอร์สแกน) เพราะป้องกันเรื่องผู้เช่ารายวันอะไรต่าง ๆ พอเจอเรื่องโควิด-19 เข้าไปอันนี้ต้อง back แล้ว ต้องถอยกลับแล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีเป็นเหตุนำไปสู่การแพร่โรคได้ (หัวเราะ)

คนที่จะแอดวานซ์ไปกว่านั้นก็ใช้ face scan ซึ่งยังติด GDPR เรื่องสิทธิเฉพาะตน อัตลักษณ์ส่วนบุคคล มีเรื่องราวที่ยังต้องศึกษาต้องอะไรพอสมควร ยกเว้นภาครัฐที่เขาสามารถออกกฎหมายมารองรับได้ ซึ่งก็มีหลาย ๆ ที่หรือบางที่ทำแล้วนะ คอนโดฯที่ผมอยู่ก็ทำแล้ว นั่นคือถ้าจะทำก็ต้องยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ข้อเท็จจริงก็มีลูกค้าเราบางคนแม้กระทั่ง finger scan ยังไม่ยอมเลย บอกว่าจะเอาข้อมูลเขาไปเปิดเผยไปนู่นไปนี่ นั่นคือสามารถมีการยกประเด็นตรงนี้ขึ้นมาโต้แย้งได้

ดังนั้นเรามองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ สิ่งที่เรา provide ไว้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต เทคโนโลยีไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อป้องกันโรค basically ต้องดูว่าตอบโจทย์การดูแลป้องกันในระดับที่เราทำอยู่แค่ไหน สำหรับตอนนี้ถือว่าโอเค ไม่มีอะไรที่เป็นดีเฟกต์ต้องมารื้อดีไซน์ตัวโครงการตรงนู้นตรงนี้ตรงนั้น เราไม่มีประเด็นเลย

Q : มีโอกาสทำ Property Distancing ไหม

property distancing ก็คือ community distancing นั่นแหละ คำว่า social ก็คือ community เพียงแต่ใหญ่กว่าเท่านั้นเอง เขาเอา community หลาย community มารวมกันเป็น sizing ใหญ่ ๆ ฉะนั้นโดยบุคลิกและลักษณะของการใช้ชีวิตปกติของผู้คนใช้กันอย่างไร ไทมิ่งกันอย่างไร ทิ้งระยะห่าง เราก็พยายามจัดระยะห่าง

อย่างบางทีถ้าเขาบอกว่ามีความจำเป็นต้องประชุม เราก็จัดให้มันห่าง แล้วส่วนใหญ่ก็จะเชื่อกันว่าพอใช้เทคโนโลยีเยอะ ๆ ซูมกันเข้าไป ไม่ต้องมานั่งมาเจอ ทำงานบนออนไลน์ได้ จัดประชุมบนออนไลน์ได้ซึ่งก็ว่ากันไป แต่เป็นเรื่องเฉพาะกิจเฉพาะเวลา คงไม่ใช่ตลอดไป ดังนั้น นิยามจึงมีระยะห่างอยู่แล้วในตัวมันเอง

เพียงแต่ว่า property เป็นพื้นที่ที่เป็นความจำเป็นที่ผู้คนต้องใช้งาน แล้วเดินผ่านกันไปผ่านกันมา ยังไม่ถึงขนาดรถไฟฟ้าที่คนเข้าไปใช้กันเยอะ ๆ ในเวลาเร่งด่วนแล้วต้องเบียดเสียด

ในมุม property ก็จัดระเบียบได้ในระดับหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีคนเข้าออกกันทุกวัน เจอกันทุกวัน มีจุดสัมผัสร่วมกันได้โดยเฉพาะลิฟต์ ซึ่งพื้นที่แนวสูงจะเป็นจุดจุดหนึ่งในเชิงของความหนาแน่น ถ้าอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ปกติก็ไม่ค่อยมีหรอก ยกเว้นลิฟต์สำนักงานที่อัตราความหนาแน่นต่อการเคลื่อนที่สูงกว่าเยอะ แต่ที่บ้านไม่ค่อยมีหรอก คอนโดมิเนียมถือว่า (ความหนาแน่นในลิฟต์) น้อย

Q : ต่อไปนี้ฟาซิลิตี้ส่วนกลางระหว่างเจ้าของห้องเรียลดีมานด์กับผู้เช่าต้องแยกกันไหม

ไม่จำเป็น เราถือว่าเป็นผู้อยู่อาศัยโครงการอันเดียวกัน อยู่ในบ้านเดียวกัน พฤติกรรมการอยู่อาศัยก็พอจะนึกออกว่ามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความท้าทายในการอยู่ร่วมกัน เราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกได้ว่าต้องช่วยกันดูแลรักษา แน่นอนคน 2 กลุ่มนี้ไม่ได้เหมือนกัน 100% กรณีผู้เช่าเขาถือว่าจ่ายค่าเช่า แต่ก็เป็นความรับผิดชอบร่วมของคนต่อสาธารณะ เป็นเรื่องจิตสาธารณะของแต่ละคนที่ต้องรับรู้ว่าพื้นที่ของเราในห้องของเรา เราก็ดูแลระดับหนึ่ง พื้นที่ที่อยู่รอบนอก (พื้นที่ส่วนกลาง) อย่างน้อยก็อย่าไปถึงขนาดว่าไม่สนใจไยดี ใช้แบบทะนุถนอม ใช้ให้ดีหน่อย ไม่อย่างนั้นก็จะเสื่อมสภาพได้

ซึ่งในมุมผู้เช่าอาจมีความรู้สึกนึกคิดในแง่ความเป็นเจ้าของตรงนี้ไม่เยอะเท่าไร เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสื่อสารบอกกล่าว ช่วยกันเฝ้าระวัง