กทม.เยียวยาอาสาสมัครเซ่นพิษ “โควิด” ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว

วันที่ 7 เม.ย. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2563 โดยครั้งนี้เป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล Teleconference ณ หน่วยงาน ตามมาตรการเว้นระยะห่าง ลดการเดินทาง และลดความแออัดของสถานที่ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยสำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว และผู้แทนสำนักงานเขตได้รายงานแนวทางการบริหารจัดการการปฏิบัติงานของอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กและลูกจ้างโครงการของกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว

ทางสำนักพัฒนาสังคม รายงานแนวทางการบริหารจัดการอาสาสมัครศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ฯ 292 แห่ง รวมจำนวน 2,049 คน ขณะนี้ได้หยุดการปฏิบัติงานชั่วคราว โดยจะได้รับการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 ในกรณีการว่างงานของผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ได้รับการเยียวยาค่าตอบแทนร้อยละ 62 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับเงินค่าตอบแทนในอัตราที่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และลดอัตราเงินสมทบสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตน โดยนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ร้อยละ 4 และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน

สำหรับอาสาสมัครศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานครจะได้รับค่าตอบแทนตามแนวทางการเยียวยา ดังนี้ วุฒิปริญญาตรี (เงินเดือน 15,000 บาท) ได้รับ 9,300 บาท ต่อเดือน วุฒิ ปวส.หรืออนุปริญญา (เงินเดือน 10,000 บาท) ได้รับ 6,200 บาท ต่อเดือน วุฒิ ปวช.หรือ ม.ปลาย (เงินเดือน 8,600 บาท) ได้รับ 5,332 บาท ต่อเดือน และวุฒิ ม.ต้น หรือต่ำกว่า (เงินเดือน 7,500 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน 5,000 บาท

ในส่วนของอาสาสมัครสังกัดสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งปฏิบัติงานในศูนย์เยาวชน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เด็ก กทม. อาสาสมัครศูนย์กีฬา ลานกีฬา และอาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานด้านดนตรี มีจำนวน ทั้งสิ้น 898 คน ยังคงได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดิม แต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่อื่น

อาทิ จัดเตรียมเนื้อหา ออกแบบ และจัดการเรียนการสอนกีฬา นันทนาการผ่านระบบออนไลน์ ดูแลวัสดุ อุปกรณ์และสถานที่ภายในศูนย์ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย สนามกีฬากลางแจ้งให้อยู่ในสภาพดีและมีความพร้อมใช้งาน อาสาสมัครห้องสมุด ทำหน้าที่สำรวจ จัดระเบียบและซ่อมหนังสือที่ชำรุด เผยแพร่งานผ่านสื่อออนไลน์โดยจัดการเล่านิทานสำหรับเด็ก การเล่าเรื่องจากหนังสือ การแนะนำหนังสือ การผลิตหนังสือเสียง สำรวจคัดแยกและซ่อมแซมวัสดุในโซนที่ชำรุดให้มีความพร้อมใช้งาน ทั้งนี้ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ

อย่างไรก็ดี แนวทางการเยียวยาและค่าตอบแทนของอาสาสมัครศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน มีความแตกต่างจากอาสาสมัครอื่นของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากตามคำนิยามของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2545 มาตรา 18 ให้ถือว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนเป็นสถานศึกษา จึงต้องปิดตามประกาศของกรุงเทพมหานคร ประกอบกับ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 และตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ปีพ.ศ.2557 เพิ่มเติม กำหนดให้อาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็กให้หมายถึงบุคคลที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาชุมชนในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เท่านั้น และการตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้คณะกรรมการชุมชนเป็นผู้ดูแล

โดยคณะกรรมการชุมชนจะเป็นผู้ยื่นขอจัดตั้งศูนย์ฯ รวมทั้งอาสาสมัครยังเป็นคณะกรรมการชุมชน ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ให้คนในชุมชนเข้ามาดูแลศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่ของตนเอง เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนต้องปิดชั่วคราว อาสาสมัครดังกล่าวจึงไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นแทนได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด เพื่อหาแนวทางเยียวลดผลกระทบ โดยให้ถูกต้องตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจกับอาสาสมัครทั้งหมดว่าเป็นการหยุดงานชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐเพียงเท่านั้น ไม่ใช่การเลิกจ้างแต่อย่างใด