“เคอร์ฟิว”ป่วน5แสนโปรเจ็กต์รัฐ รับเหมาร้องยืดสัญญาขอพักหนี้

File. Photo credit should read ROMEO GACAD/AFP via Getty Images

“โควิด-เคอร์ฟิว” กระทบไซต์ก่อสร้างทั่วประเทศเกือบ 5 แสนโครงการจนคมนาคมสั่งปรับแผน พร้อมเปิดทางขอสงวนสิทธิ์ขยายสัญญาได้ BTS-BEMลุ้นรัฐเยียวยา หลังผู้โดยสารลดฮวบ ด้านสมาพันธ์ขนส่งขอผ่อนผันวิ่งรถบรรทุก ส่วน 4 สมาคมวิชาชีพ รับเหมา วิศวะ สถาปนิก ที่ปรึกษายื่นหนังถึงบิ๊กตู่ออกมาตรการช่วยเหลือ ยกเว้นค่าปรับ พักชำระหนี้ 3-6 เดือน

การประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อยับยั้งการเดินทางของคนและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ในภาพรวมได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วน

ทั้งที่ได้รับการยกเว้นและไม่ได้รับการยกเว้น รวมถึงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ

กระทบคน-ไซต์สร้างรถไฟฟ้า

มีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเข้ามาว่า การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลทำให้เอกชนคู่สัญญางานก่อสร้างและสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสามารถขอสงวนสิทธิ์ขอชดเชยได้ เช่น ขอขยายเวลาหรือเงินชดเชย ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หาก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้รับผลกระทบเพราะเดินรถได้แค่ 4 ทุ่ม จากปกติถึงเที่ยงคืน หายไป 2 ชั่วโมง มีผลให้ผู้โดยสารและรายได้ลดลง ก็ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการมาตรา 43 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 พิจารณาได้ งานก่อสร้างยึดตามสัญญา กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้พิจารณา

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ได้แจ้งให้ผู้รับเหมารถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง หยุดก่อสร้างช่วงเวลาเคอร์ฟิวและให้ปรับแผนและบริหารจัดการไปเร่งสร้างช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนให้ทำงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยที่หยุดไม่ได้ เช่น งานขุดเจาะอุโมงค์สายสีส้ม เพื่อให้กระทบต่อแผนก่อสร้างน้อยที่สุด

ส่วนนายสรพงศ์ ไพฑุรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า จากการตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบรางที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ได้แก่ ช่วงมาบกะเบา-จิระ, ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ยังมีรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ส่วนรถไฟฟ้ามี 6 โครงการ ได้แก่ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต

สายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีทอง คลองสาน-ประชาธิปก ขณะที่ตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าและรถไฟ ณ วันที่ 5 เม.ย.ลดลง 92.32% แยกเป็นรถไฟเหลืออยู่ที่ 7,156 คน , แอร์พอร์ตลิงก์ 5,434 เที่ยวคน, สายสีม่วง 4,137 เที่ยวคน, สายสีน้ำเงิน 24,355 เที่ยวคน และบีทีเอส 57,300 เที่ยวคน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ยอดผู้โดยสารบีทีเอสลดลงเรื่อย ๆ จากปกติ 700,000-800,000 เที่ยวคน/วัน “แต่ตอนนี้ยังไม่นิ่ง” รอประเมินอีกครั้งหลังสถานการณ์คลี่คลายทั้งรายได้และผู้โดยสาร ส่วนจะขอให้รัฐช่วยเยียวยาหรือไม่ กำลังดูข้อเท็จจริงสัญญาสัมปทานกับ กทม.จะดำเนินการหรือไม่

แรงงานขาด-ขอยืดเวลา

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้ให้ผู้รับเหมา กทม.หยุดการก่อสร้างทั้งหมด 17 โครงการ ในช่วงเคอร์ฟิว และให้เร่งงานช่วงกลางวันแทน เช่น งานก่อสร้างสะพานข้ามแยกระนอง, ทางลอดไฟฉาย, สะพานเชื่อมถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตกกับพุทธมณฑลสาย 2 โรงพยาบาลตากสิน หากกระทบต่อแผนงานก่อสร้างเกิดล่าช้า ผู้รับเหมาขอขยายเวลาได้

ส่วนการก่อสร้างทางหลวง นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบมาก ส่วนใหญ่ก่อสร้างในเวลาปกติ 07.00-18.00 น. ยกเว้นงานด่วนจะสร้างกลางคืนด้วย สอดคล้องกับนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า เคอร์ฟิวไม่กระทบไซต์สร้างถนนในต่างจังหวัดมีอยู่ 4,000-5,000 สัญญาเช่นกัน เพราะสร้างกลางวันเป็นหลัก แต่กระทบบ้างคือแรงงานขาดหลังต่างด้าวเดินทางกลับประเทศช่วงปิดด่านชายแดน ทำให้งานล่าช้าจากแผน ล่าสุดผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิ์ขยายเวลาก่อสร้างเข้ามาบ้างแล้ว

แหล่งข่าวจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า มีงานก่อสร้าง 5 สัญญาของโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่กำลังก่อสร้าง เช่น อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อาคารจอดรถ ต้องหยุดการก่อสร้างตามเวลาเคอร์ฟิว

ขณะเดียวกันมีปัญหาแรงงานขาดหายไปจากระบบ 3,000 คน จากมีอยู่ 7,000 คน เหลือ 4,000 คน หลังมีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนการเยียวยาผู้รับเหมาต้องยึดตามสัญญา สามารถขอขยายเวลาได้หากเป็นเหตุสุดวิสัย

สนามบินภูธรเปิดถึง 16.30 น.

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากศยาน (ทย.) กล่าวว่า ได้ปรับเวลาทำงานสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง เปิดบริการ 08.30-16.30 น. แม้บางแห่งจะไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ก็ตาม แต่ต้องสแตนด์บายเที่ยวบินฉุกเฉิน เที่ยวบินราชการ เที่ยวบินขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค และเวชภัณฑ์ ปัจจุบันกรมประเมินสถานการณ์เป็นวันต่อวัน ขณะนี้มี 12 สนามบินที่ไม่มีเที่ยวบินตลอดเดือนเมษายนนี้ ได้แก่

แม่ฮ่องสอน, น่าน, เลย, นครพนม, ร้อยเอ็ด, หัวหิน, นราธิวาส, บุรีรัมย์, ชุมพร, แม่สอด, ลำปาง และ ขอนแก่น แต่ยังมีอีก 7 สนามบินที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ ได้แก่ อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี, นครศรีธรรมราช, พิษณุโลก, ตรัง และสกลนคร ซึ่ง ณ วันที่ 7 เม.ย. มีบินไป-กลับ 7 เที่ยวบิน ส่วนผู้โดยสาร ณ วันที่ 6 เม.ย.เหลืออยู่ 1,430 คน จากปกติ 45,000 คน/วัน

“หลังวันที่ 9 เม.ย.คงลดลงอีกจากการหยุดเส้นทางบิน จากผลกระทบกรมไม่มีรายได้ส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนค่าบริหารจัดการต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าซ่อมบำรุง ค่าโอที เพราะรายได้ลดลงจากวันละ 5 ล้าน เหลือ 40,000 บาท จะขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 500-600 ล้านบาทเผื่อไว้ เพราะเงินกองทุนที่ยังเหลือ 500-600 ล้านบาท จะอยู่ได้ถึงเดือน ก.ย.นี้เท่านั้น ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลโครงการก่อสร้างที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเคอร์ฟิว”

รถบรรทุกขอผ่อนผันเวลาวิ่ง

ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสมาพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคขนส่งวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากเคอร์ฟิวมากที่สุด มีรถบรรทุกที่หยุดวิ่ง 30% จากในเครือข่ายมีอยู่ 200,000 คันเพราะรัฐออกมาตรการห้ามขนส่งวัสดุก่อสร้างข้ามระหว่างเมือง ดังนั้นทางสมาพันธ์จะทำหนังสือไปยัง กรมการขนส่งทางบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอ “ผ่อนผัน” ให้วิ่งได้เพราะมีความจำเป็นประกอบกับการขนส่งในเวลากลางวันก็ไม่ค่อยสะดวก ต้องขนเวลากลางคืน เพื่อถึงไซต์งานก่อนเริ่มการก่อสร้าง

รับเหมายื่นขยายเวลาสัญญา

ด้านนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันที่ 7 เม.ย.นี้ ทาง 4 สมาคมวิชาชีพ ประกอบด้วยสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง, วิศวกรรมสถาน, สถาปนิกสยาม และวิศวกรที่ปรึกษา จะยื่นข้อเสนอถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. ให้สั่งการผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 พิจารณา “ผ่อนปรนสัญญาภาครัฐ” เนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิวและการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างทั้งเล็กและใหญ่ทั่วประเทศที่จัดซื้อจัดจ้างระหว่างปี 2561-2562 จำนวน 486,791 โครงการ มูลค่า 829,112.45 ล้านบาท ที่กำลังได้รับผลกระทบ ได้แก่

1) เร่งเบิกจ่ายค่าจ้างที่คงค้างและกำหนดวิธีการตรวจรับงาน 2) ยกเว้นค่าปรับสัญญาทุกสัญญาทั้งงานออกแบบ ที่ปรึกษา จัดหาติดตั้งพัสดุและสัญญาก่อสร้าง 3) ขอให้ขยายเวลาสัญญาโดยไม่ใช้ดุลพินิจให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด และ 4) ขอให้แก้ปัญหาและมีมาตรการช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการในระยะยาว

นอกจากนี้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 11 ข้อ เช่น ผ่อนผันและขยายเวลาต่อวีซ่าแรงงานต่างด้าวที่ยังเหลือในระบบคราวละ 3 เดือน หรือจนกว่า ตม.พร้อมให้บริการ

จากปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวหายไปจากระบบประมาณ 200,000-300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมาและกัมพูชา, นอกจากนี้ขอให้มีการอนุโลมแก้ไขงวดงานเพราะวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์บางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เช่น จีนและยุโรป, ขอเร่งรัดเบิกจ่ายค่า K และการยกเว้นค่าปรับตามสัญญาจ้าง อีกทั้งยังขอให้รัฐบาลมีมาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการก่อสร้างเหมือนผู้ประกอบการ SMEs โดยพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3-6 เดือน

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การพิจารณาชดเชยผลกระทบให้เอกชนต้องดูข้อเท็จจริงในสัญญา แต่จะพิจารณาภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปแล้ว

ร้องปลดล็อกขนส่งเหล็ก

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขนส่งสินค้าเหล็กจากต่างจังหวัดเข้าพื้นที่กรุงเทพฯได้รับผลกระทบเพราะส่วนใหญ่รถบรรทุกส่งของจะใช้ช่วงเวลากลางคืน ส่วนกลางวันถูกจำกัดขอบเขตเวลา ทำให้ชั่วโมงในการทำงานน้อยลงกว่าปกติ เช่น ขนสินค้าจากระยองมากรุงเทพฯจากเดิมใช้เวลา 1 วัน แต่กว่าจะถึงปลายทางก็ใกล้เวลาเคอร์ฟิว จำเป็นต้องหยุดพักรถเพื่อหาที่นอน การขนส่งจึงกินเวลาจาก 1 วัน เป็น 2 วัน จาก 2 วัน เป็น 4 วัน ถ้าระยะทางไกลอย่างเช่นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามากรุงเทพฯ ซึ่งก็ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มไม่ถึงเท่าตัว โดยทางกลุ่มฯได้เสนอไปยังนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เพื่อขอให้รัฐบาลผ่อนปรน ยกเว้น การขนส่งสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น เช่น เหล็ก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ต้องการความชัดเจนเรื่องการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร อย่างผลไม้ที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดตอนนี้ไม่สามารถกระจายขายภายในประเทศได้เพราะการตรวจสอบเอกสารใช้ระยะเวลานาน ต้องเผื่อเวลาและเอกสารที่ชี้แจงเพื่อการขนย้ายนั้นบางพื้นที่แจงว่า “ไม่สามารถใช้การได้” สอดคล้องกับนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ก็ต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของวิธีการดำเนินงานของภาคการส่งออก นำเข้า โรงงานการผลิตและระบบโลจิสติกส์ หากจำเป็นมีการประกาศเคอร์ฟิวยกระดับเป็น 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานและระบบโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกนำเข้าไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการค้าได้ พร้อมคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2563 จะหดตัวไม่ต่ำกว่า 8% หรือต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ปรับรอบรับพัสดุเร็วขึ้น 1 ชม.

นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด (Flash Express) ผู้ให้บริการขนส่งครบวงจร กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายปรับแนวทางการทำงานโดยปรับรอบเวลารับพัสดุให้เร็วขึ้น 1 ชม.จากเวลาปกติ เพื่อความสะดวกในการคัดแยกสินค้าในช่วงสถานการณ์ประกาศเคอร์ฟิวและออกมาตรการขอ “งด” รับพัสดุที่มีความยาว กว้าง และสูงรวมกันเกินกว่า 155 ซม. และพัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กก.ในบางพื้นที่ชั่วคราว “ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินระบุว่า อาชีพขนส่งพัสดุ ถือเป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว

ดังนั้นในภาพรวมของการขนส่งของ Flash Express สามารถให้บริการคนไทยในทุกสถานการณ์ได้แน่นอน โดยพนักงานของบริษัทจะมีเอกสารยืนยันระบุว่า เป็นพนักงานขนส่งพัสดุของบริษัท มีการระบุชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชนของพนักงานไว้ชัดเจน


รวมถึงระบุเวลาการทำงานของพนักงานลงในเอกสารตามคำแนะนำของกระทรวงคมนาคม