ม.ค.ปีหน้าปิดจ็อบเวนคืน-รื้อย้ายสร้างไฮสปีด ซี.พี.

รัฐเร่งเคลียร์ “เวนคืน-บุกรุก” ไฮสปีด 3 สนามบิน ปรับแผนให้ปิดจ็อบจบ ม.ค. 64 “ซี.พี.” ขอขยายเขตทางเพิ่ม 5 จุด เปิดพื้นที่ติดตั้งไซต์ ปรับรัศมีโค้ง “สุวรรณภูมิ-ฉะเชิงเทรา-อู่ตะเภา” หน่วยงานสาธารณูปโภคของบฯเพิ่ม จากเดิม 4.1 พันล้าน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ประชุมทางไกลติดตามความคืบหน้าการเวนคืนที่ดินและการจัดการกับผู้บุกรุกของโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้ข้อสรุปไทม์ไลน์การเวนคืนแล้ว

โดยช่วงเดือน เม.ย.จะเป็นขั้นตอนของการสำรวจและปักหลักเขตเวนคืน และจัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ถูกเวนคืนรับทราบ จากนั้นเดือน พ.ค.จะสำรวจรายละเอียดที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้างต้นไม้ และอื่น ๆ และเดือน ก.ย.จะสรุปรายละเอียดค่าทดแทนทั้งหมด จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.- ธ.ค.นี้จะเริ่มทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถูกเวนคืน และทยอยจ่ายค่าเวนคืน โดยตั้งเป้าภายในเดือน ม.ค. 2564 จะเคลียร์ที่ดินครบทั้งหมดและดำเนินการส่งมอบที่ดินสำหรับก่อสร้างโครงการต่อไป

“จะมีพื้นที่เวนคืนทั้งหมด 931 แปลงส่วนผู้บุกรุกขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,352 หลัง แบ่งเป็นผู้บุกรุกที่กีดขวางแนวเส้นทางของโครงการ 498 หลัง ซึ่งใน 498 หลังจะแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกพร้อมรับค่าเยียวยา แต่ขอเวลารื้อย้าย จำนวน 156 หลัง และกลุ่มที่พร้อมรับค่าเยียวยาและออกจากพื้นที่เลย 342 หลัง ซึ่งได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดกระบวนการเจรจาในรายละเอียดและเร่งรื้อย้ายออกให้เร็วที่สุด จะให้เคลียร์พื้นที่ให้จบพร้อมกับการเวนคืนที่เดือน ม.ค. 2564 ซึ่งคณะทำงานพยายามเร่งให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมที่วางไว้ในช่วงเดือน ต.ค. 2564”

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะที่การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วย ได้แก่ การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้รับจัดสรรงบประมาณเปิดพื้นที่จากอีอีซีแล้ว 490 ล้านบาท และได้ประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดซื้อจัดจ้างแล้ว อยู่ระหว่างรออนุมัติวงเงินงบประมาณ เป็นการใช้งบกลางปี 2563

นอกจากนี้ยังมีงบก่อสร้างทดแทนใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วย จะของบประมาณเพิ่มเติมอีก 1,000 ล้านบาท จากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซีอนุมัติกรอบไปแล้ว 4,103 ล้านบาท

โดยมีหน่วยงานที่เสนอขอ ประกอบด้วย กปน.ขอเพิ่มมา 41 ล้านบาท, กปภ.ขอเพิ่มมา 112 ล้านบาท กฟภ.ขอเพิ่มมา 523 ล้านบาท กปน.ขอเพิ่มมา 29 ล้านบาท และ กทม.ขอเพิ่มมา 297 ล้านบาท เพื่อขยับท่อไซฟ่อนและท่อรวบรวมน้ำเสียบริเวณคลองสามเสน ซึ่งจากการพิจารณาเนื้องานต่าง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันทางบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) ได้ขอขยายแนวเขตทางเพิ่มเติมจาก 25 เมตร จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย 1.ช่วงสถานีลาดกระบังขอต่อขยายจาก 25 เมตรเป็น 35 เมตร ยาว 180 เมตร ขยายวงโค้งออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ

2. ช่วงกม.63+777 จ.ฉะเชิงเทรา ขอขยายเป็น 32 เมตร ยาว 140 เมตร หลบประตูน้ำกรมชลประทาน 3.ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ขอขยายเป็น 40 เมตร ยาว 1.48 กม. ใช้พื้นที่ในการวางเครื่องจักรกลขนาดใหญ่และชิ้นส่วนสำเร็จรูป

4.อุโมงค์เขาชีจรรย์ ขอขยายความกว้างเป็น 50 เมตร ยาว 440 เมตร ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเจาะภูเขา เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ และ 5.ทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา ขอขยายเป็น 40 เมตร ยาว 4.1 กม. ขยายวงโค้งเข้าสนามบินอู่ตะเภา สร้างถนนทางเชื่อม และโลคอลโรด

“ต้องมีเวนคืนเพิ่ม ให้ซี.พี.และที่ปรึกษาของ ร.ฟ.ท.สรุปข้อมูล ทั้งแนวที่ต้องเวนคืนเพิ่มและกรอบวงเงินเวนคืนมาให้ชัดเจน รวมถึงการเวนคืนเพิ่มเติมนี้จะต้องทำ EIA ใหม่หรือไม่”

ทั้งนี้ หากต้องทำ EIA เพิ่มเติมก็ให้ส่งประเด็นให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาและเชิญให้มาร่วมประชุม เพื่อให้ความเห็นและคำแนะนำด้วย ซึ่งการเวนคืนเพิ่มตรงนี้ จะไม่รวมกับ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ อาจจะต้องขออนุมัติเพิ่มเติม โดยจะต้องเวนคืนเท่าที่จำเป็นและต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี