พ.ค.ขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม BTS เปิดบริการ “สถานีม.เกษตร-วัดพระศรี” 3 มิ.ย.

ฉลุย - บีทีเอสกำลังทดสอบระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย "หมอชิต-คูคต" เป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมเปิดบริการ มิ.ย.นี้เพิ่ม 4 สถานี

สปีดรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ปริมณฑล รฟม.เร่งประมูลสายสีส้ม “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” ดึงเอกชน PPP 30 ปี สร้าง เดินรถ ซ่อมบำรุง 1.42 แสนล้าน รัฐจ่ายคืนหลังตอกเข็ม 2 ปี ดีเดย์ 15 พ.ค.ขายซอง ยื่นประมูล ส.ค. เซ็นสัญญาปลายปีนี้ ใครเสนอผลประโยชน์รัฐสูงสุดเป็นผู้ชนะ BTS-BEM แข่งเดือด กทม.เคาะ 3 มิ.ย.นั่งสีเขียวต่อขยาย “ม.เกษตร-วัดพระศรี” ตีตั๋วสีทอง ส.ค. ปีหน้า ต.ค. สีชมพูเปิดครึ่งทาง “มีนบุรี-หลักสี่” และสายสีเหลืองไล่จากสำโรงเข้าเมือง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รฟม.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเอกชนเพื่อร่างประกาศเชิญชวน (TOR) ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. มูลค่า 142,789 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 ผ่านเว็บไซต์ถึงวันที่ 19 เม.ย.นี้ ซึ่งเอกชนจะจัดส่งให้ รฟม.ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 20-22 เม.ย.นี้ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศ TOR ต่อไป

ขายซองสีส้มกลางเดือน พ.ค.

“รอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ออกประกาศราชกิจจาเรื่องประกาศทีโออาร์ คาดว่าจะเปิดขายซองประมูลได้กลางเดือน พ.ค. และเปิดให้ยื่นข้อเสนอกลางเดือน ส.ค. มี 4 ซอง คือ คุณสมบัติ เทคนิค ราคาและผลตอบแทน และข้อเสนออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ขณะนี้ยังล่าช้าจากแผนงานเล็กน้อย จะเร่งรัดกระบวนการพิจารณาข้อเสนอให้เร็วขึ้น คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะและเซ็นสัญญาในเดือน ธ.ค.นี้”

นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า โดยเอกชนที่ให้ผลประโยชน์รัฐสูงสุด ทั้งการขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธา และผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา จะเป็นผู้ชนะประมูลโดยรัฐจะจ่ายเงินค่าโยธาคืนให้หลังเริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว 2 ปี

เร่งงานระบบรับเปิดส้มตะวันออก

“เมื่อได้เอกชนแล้ว จะเร่งงานระบบโดยเร็วเพื่อให้ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เปิดบริการตามแผนในปี 2567 เพราะปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 58.59% จะแล้วเสร็จในปี 2565”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดประกาศเชิญชวนของ รฟม. ต้องการเชิญกลุ่มเป้าหมายเป็นเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการเดินรถไฟฟ้า สถาบันการเงิน ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ผู้ประกอบกิจการก่อสร้าง และนักลงทุนเข้าร่วมประมูล

โดย รฟม.ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และเวนคืนที่ดินให้เอกชนก่อสร้างช่วงตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม

ขณะที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างช่วงตะวันตก และออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้า ซ่อมบำรุงรักษา เพื่อให้บริการเดินรถตลอดสายและจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินการโครงการ

แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา จัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยส่วนการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี 6 เดือน นับจากวันแจ้งเริ่มงาน ส่วนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ระบบรางวิ่ง จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและเดินรถช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ มีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี นับจากวันแจ้งเริ่มงาน

สำหรับงานระยะที่ 2 การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่ รฟม.ให้เริ่มบริการเดินรถไฟฟ้าช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จนสิ้นสุดสัญญาร่วมลงทุน

โดยเงินลงทุนโครงการ ประกอบด้วย ค่าเวนคืนช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม วงเงิน 14,611 ล้านบาท งานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่างานระบบ 32,116 ล้านบาท

BTS-BEM ร่วมชิง

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า คาดว่าสายสีส้มจะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบีทีเอส และกลุ่ม BEM โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหารบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า พร้อมเข้าประมูลสายสีส้มร่วมกับพันธมิตรเดิม

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยว่า สนใจจะเข้าร่วมประมูลสายสีส้ม ได้ฟอร์มทีมมาเป็นปีแล้ว เพื่อเข้าประมูล มีทีมประมูล ทีมทำงาน ส่วนทีมลงทุนยังไม่นิ่ง มีคนสนใจจะร่วมหลายราย ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ เพราะเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้าน จะร่วมกับพันธมิตรเดิมและมีพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมด้วย เช่น บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

3 มิ.ย.เปิดบีทีเอสถึงวัดพระศรีฯ

นายสุรพงษ์กล่าวถึงแผนเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่าในเดือน มิ.ย.จะเปิดเพิ่ม 4 สถานี จากปัจจุบันเปิดถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไปเป็นสถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

“ส่วนสายสีทอง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ในเดือน เม.ย.นี้ทางซัพพลายเออร์จะเริ่มลำเลียงขบวนรถลงเรือ คาดว่าจะถึงประเทศไทยประมาณ พ.ค.-มิ.ย. ซึ่งเป้าเปิดบริการยังเป็นในเดือน ส.ค.นี้”

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า กทม.กำหนดวันเปิดบริการสายสีเขียวสถานี ม.เกษตรศาสตร์-สถานีวัดพระศรีฯ เป็นวันที่ 3 มิ.ย.นี้ ส่วนจะเก็บค่าโดยสารหรือไม่ รอนโยบายจากผู้ว่าฯ กทม. แต่มีแนวโน้มจะเปิดให้ใช้ฟรีไปจนกว่าจะเปิดตลอดสายถึงคูคตปลายปีนี้ ส่วนสายสีทองงานก่อสร้างล่าช้าจากแผนเล็กน้อย โดยเฉพาะงานติดตั้งระบบที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน

ชมพู-เหลืองทยอยเปิด

แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.2564 จะปรับแผนเปิดบริการสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ทยอยเปิดจากมีนบุรี-วงเวียนหลักสี่เชื่อมสายสีเขียวและสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง จะเปิดจากปลายทางที่สถานีสำโรง เชื่อมกับสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการไล่ลงมายังศรีนครินทร์ ยังไม่สรุปจะเปิดกี่สถานี