สวนสาธารณะลอยฟ้า “พระปกเกล้าสกายพาร์ค” คืบ 85% สร้างเสร็จ พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค)

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือโครงการปรับปรุงสะพานพระปกเกล้าสกายพาร์ค เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน ทางจักรยาน และติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการเพิ่มเติม สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน – คลองสาน

โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการในการดำเนินการ ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มต้นสัญญาวันที่ 28 มี.ค.62 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 23 มี.ค.63 ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายอายุสัญญาครั้งที่ 1 เนื่องจากการส่งมอบงานล่าช้า เนื้องานเริ่มจากปลายสะพานฝั่งพระนครเหนือสวนสมเด็จพระปกเกล้า เขตพระนคร ถึงปลายสะพานฝั่งธนบุรีเหนือ สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน ระยะทางประมาณ 280 เมตร มีทางขึ้น – ลงสะพาน 2 แห่ง

เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้และปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าว ผลงานโดยรวมทำได้ร้อยละ 85 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า ติดตั้งแนวป้องกันบนโครงสร้างสะพาน งานปรับผิวพื้นสะพาน และงานนำต้นไม้มาปลูกบนสะพาน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.63

อนึ่งโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน มีความยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีระยะห่างจากช่องทางเดินรถ สะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง 0.80 เมตร ความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ 9 เมตร เมื่อเทียบกับสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาออกจะอยู่ระดับสูงกว่าประมาณ 2 เมตร ที่ปลายสะพาน และระดับเท่ากันที่กลางสะพาน

ส่วนสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาเข้าจะมีระดับเท่ากันที่ปลายสะพานฝั่งธนบุรี ส่วนปลายสะพานฝั่งพระนครเป็นโครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และ มีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งพระนคร ส่วนปลายสะพานฝั่งธนบุรีเป็น โครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ